ລາວໂຮມລາວ ເພື່ອປະຊາທິປະໄຕ

Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!
Anonymous

Date:
อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!
Permalink   
 


อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!!!

อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อลาวนั้น มิใช่แค่ระดับรัฐต่อรัฐหรือระดับโครงการใหญ่ๆ ที่จีนได้โอกาสในการลงทุนเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ในระดับชาวบ้าน กองทัพมดของพ่อค้าจีนกำลังแผ่ขยายเข้าไปควบคุมตลาดการค้าในลาว ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้จิปาถะไปจนถึงรถยนต์


“5 ล้านกว่ากีบเอง บ่แพง ถืก (ถูก) กว่ารถไทยตั้งกว่าครึ่ง” เสียงพ่อค้ารถจักรยานยนต์ชาวจีนกำลังพูดภาษาลาวชนิดที่เรียกว่า “เกือบจะ” ชัดแจ๋ว โน้มน้าว ลูกค้าชาวลาวในเมืองน้ำเงินให้รีบตัดสินใจซื้อ โดยยกเรื่องราคาขึ้นมาเป็นจุดขาย

เมืองน้ำเงินเป็นเมืองเล็กๆ ของแขวงไชยะบุรี ติดกับชายแดนไทยด้าน อ.เฉลิม พระเกียรติ จ.น่าน ประชากรของเมืองนี้มีอยู่ไม่กี่ร้อยหลังคาเรือน

แต่ก็ยังมีพ่อค้าชาวจีนที่มองเห็นว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ และเริ่มเข้ามาปักหลักตั้งร้านรวงค้าขายสินค้าหลากหลายประเภทได้ประมาณปีเศษ มาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้มิใช่มีเฉพาะที่เมืองน้ำเงิน แต่ได้แพร่ขยายไปแทบจะทุกเมืองของทุกแขวงของ สปป.ลาว โดยเฉพาะ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

เป็นภาพสะท้อนการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่หยั่งรากลึกลงไปถึงระดับชุมชน

ภาพอิทธิพล “จีน” ที่มีต่อเศรษฐกิจ “ลาว” จึงมิใช่มีเพียงในระดับรัฐต่อรัฐในรูปแบบของความช่วยเหลือต่างๆ หรือในระดับวิสาหกิจที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีน ได้เข้าไปควบคุม ยึดครองโครงการใหญ่ๆ ในลาว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเป็นที่รับทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว

วันนี้...จีนกำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปยึดกุมเศรษฐกิจของลาวในทุกระดับ และกำลังขยายไปสู่มิติอื่นๆ อย่างน่าจับตา!!!

“ตรุษจีนทีแทบร้างทั้งเมือง หาเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) กินกันแทบไม่ได้เลยล่ะ” เป็นคำยืนยันจากวิศวกรหนุ่มที่คุมงานปรับปรุงสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก หนึ่งในแขวงใหญ่ ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว ยืนยันกับผู้จัดการ 360 ํ พร้อมกับย้ำว่าที่นี่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายชาวจีน และจีนเวียด (เวียดนาม) สอดคล้องกับอาซาง เด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ จากเซี่ยงไฮ้ ที่เข้ามาเปิดแผงขายโทรศัพท์มือถือ ที่ตลาดชายแดนวังเต่า แขวงจำปาสัก-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ที่ตอบคำถามด้วยท่าทีระมัดระวัง แต่ชัดถ้อยชัดคำในการออกเสียงภาษาลาว ระหว่างเจรจาขายโทรศัพท์มือถือให้ลูกค้าคนลาว ว่าพ่อค้าแม่ขายในตลาดชายแดนวังเต่าแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้แทบทั้งหมด

ขณะที่คนลาวจะนำผลิตผลจากป่าในพื้นที่มาวางแผงแบกับดินจำหน่ายเป็นหลักเท่านั้น

อาซางเดินทางจากเซี่ยงไฮ้เข้ามาปักหลักที่ตลาดแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เปิดแผงขาย โทรศัพท์มือถือ และสินค้าเครื่องหนัง-กระเป๋า (ก๊อบ***) จากจีนไปพร้อมๆ กับเรียนรู้ภาษาลาวจนคล่อง ทำให้เขาสามารถพูดไทยได้ไปโดยปริยาย

แม้ว่าชายแดนช่องเม็ก-วังเต่าจะมีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นเพียงปีละ 5 พันกว่าล้านบาท แยกเป็นการส่งออกของไทย 4-5 พันล้านบาท และนำเข้าจากลาวเฉลี่ย 700-900 ล้านบาทก็ตาม

แต่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสำคัญที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

กฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรช่องเม็ก บอกว่าที่ผ่านมาช่องเม็กมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้า-ออกประมาณ 300,000 กว่าคนต่อปี รถยนต์ 3-4 หมื่นคันอาจจะไม่มาก แต่มีโอกาสขยายตัวแน่นอน เพราะเส้นทางคมนาคมสายนี้กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดยถนนสายอุบลราชธานี-ช่องเม็กกำลังได้รับการขยายเป็น 4 เลน เสร็จในปี 2554 นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งระหว่างอุบลราช ธานี-ปากเซ เปิดให้บริการอยู่แล้ว และกำลังจะมีการเปิดเส้นทางเดินรถกรุงเทพฯ-ปากเซ ใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ ก็จะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเข้า-ออกมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่เส้นทางจากชายแดนช่องเม็ก-วังเต่าไปถึงปากเซ ก็เป็นถนนลาดยาง ชั้นเดียวขนาด 2 เลน และยังมีช่องทางเชื่อมต่อไปถึงเวียดนาม-กัมพูชาได้ มีแหล่ง ท่องเที่ยวสำคัญทั้งน้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี ฯลฯ นอกจากนี้ทาง สปป.ลาวกำลังผลักดันให้แขวงจำปาสักเป็นเมืองอนุรักษ์ ยิ่งจะทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับที่ชายแดนสะหวันนะเขตตรงข้าม จ.มุกดาหาร หรือเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนตรงข้ามกับ จ.นครพนม ที่กำลังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 อยู่ในขณะนี้คาดว่าจะสามารถ เปิดใช้งานได้ราวกลางปีหน้าเป็นต้นไป (2554)

สุนทะลี กันยานุสอน ผู้อำนวยการสถานีรถขนส่งโดยสารคำม่วนที่เพิ่งเดินทาง มาลงนามในข้อตกลงเปิดเดินรถโดยสารนครพนม-คำม่วนกับ บขส.ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่บอกว่าทั้งตลาดหลัก 2 และหลัก 3 (กม.2 และ กม.3) ของเมืองท่าแขก นอกจากจะมีสินค้าจีนตั้งแต่เครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ รถยนต์จีน เข้ามาจำหน่ายแล้ว ก็มีกลุ่มพ่อค้ารายย่อย ทั้งจีนและเวียดนามเข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้ากระจายอยู่ทั้ง 2 ตลาด และย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองท่าสำคัญแห่งนี้ด้วย

รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับ สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 3 ที่กำลังก่อสร้าง อยู่และรัฐบาล สปป.ลาวได้เวนคืนพื้นที่ไว้แล้วหลายร้อยเฮกตาร์ สุนทะลีเชื่อว่าหนีไม่พ้นกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากจีน เกาหลี และเวียดนาม ที่จะเข้ามาสัมปทานเช่นกัน

ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่เมืองหลวงของ สปป.ลาว อย่างนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดินลัดเลาะไปตามถนนเลียบแม่น้ำโขงฝั่งเวียงจันทน์ หลายคนอาจแวะเวียนเข้าไปที่ร้าน Walk Man Village ขนาด 2 คูหาที่เปิดพื้นที่ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 วางขายเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องหนัง เครื่องกีฬา ฯลฯ แบรนด์เนมเลียนแบบเกือบเหมือนจริงเต็มพื้นที่

ขาช้อปที่แวะเวียนไปที่ Walk Man Village จะเจออาหมวยหน้าตาจิ้มลิ้มวัย 20 กว่าๆ ทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์อยู่ ถามไถ่เบื้องต้น เธอเป็นน้องสาวเจ้าของร้าน เพิ่งเดินทางมาจากปักกิ่งได้ไม่ถึง 3 เดือน จึงยังพูดภาษาลาวไม่ได้ เธอบอกว่ามาช่วยพี่ชายแท้ๆ ที่มาตกแต่งคนลาวเป็นภรรยา แล้วเปิดร้าน Walk Man Village ขายสินค้าที่นำเข้ามาจากฮ่องกง ซึ่งล่าสุดเปิดแล้ว 3 สาขาคือ ที่นครหลวง เวียงจันทน์ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน เซโน แขวงสะหวันนะเขต และชายแดนวังเต่า-ช่องเม็ก แขวงจำปาสัก

ทั้ง 3 จุดล้วนเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เป็นทางผ่านสำคัญของเส้นทางคมนาคมในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น หลังจากจีนยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือ สปป.ลาวในการเตรียม ความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ เมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งทำให้ช่องทางในการเข้ามาลงหลักปักฐาน สร้าง “China Town” ในนครหลวงเวียงจันทน์ของพ่อค้าจีนมีมากขึ้น แม้ระยะที่ผ่านมาจะยังคงมีปัญหาการเวนคืนที่ดินใกล้กับบึงธาตุหลวง รองรับนักธุรกิจ พ่อค้าจีน จนโครงการต้องล้มเลิกไปแล้วก็ตาม

แต่ล่าสุดพื้นที่ย่านริมถนนสุพานุวง (ถนนหลวงพระบางเดิม) ที่มุ่งหน้าไปยังสนามบินวัดไต ซึ่งเคยถูกใช้เป็นค่ายทหารฝรั่งเศสเดิมก็ถูกเนรมิตเป็น “ศูนย์การค้าจีน” กลางนครเวียงจันทน์ขึ้นอย่างเต็มตัวแล้ว เป็นการดำเนินการในนามบริษัท SAN JIANG จำกัด รองรับกลุ่มพ่อค้าจีนรายย่อยที่หอบลูกจูงหลานหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเปิดร้าย ขายสินค้าสารพัดชนิด ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ทั้งเสื้อผ้า ของเด็กเล่น เครื่องจักรกลการเกษตร มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ฯลฯ นับร้อยๆ ร้านค้า

บางร้านเปิดขายเต็มตัวแล้ว แต่บางร้านก็กำลังอยู่ระหว่างตกแต่งหน้าร้าน เตรียม Grand Opening กันอยู่

และยังมีพื้นที่บางส่วนที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม รองรับกลุ่มพ่อค้า ชาวจีนกลุ่มใหม่ที่ยังคงหลั่งไหลออกมาแสวงโชคนอกแผ่นดินเกิดอยู่ไม่หยุดยั้ง

รวมถึงชาวจีนบางส่วนที่รัฐบาลลาวเปิดทางให้เข้าไปปักหลักสร้างชุมชนอยู่ อาศัยย่านแดนสวรรค์ ใกล้กับเขื่อนน้ำงึม 1 เป็นการชั่วคราวอีกหลายร้อยครอบครัว

ทำนองเดียวกันกับที่ “ปากลาย” แขวงไชยะบุรีที่กำลังกลายเป็นชุมทางลาวตะวันตก ที่มีเส้นทางบกเชื่อมต่อมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์ หรือเมืองเศรษฐกิจอื่นๆ (อ่านเรื่อง “ปากลาย เมืองชุมทางแห่งลาวตะวันตก” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

บัวพัน มักคะผน เจ้าเมืองปากลาย บอกว่ามีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งไซโล ที่ปากลาย เพื่ออบแห้งพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเพื่อการส่งออกแล้ว 4 แห่ง ด้วยกัน รวมทั้งมีกลุ่มพ่อค้าจีน เข้ามาลงทุนกันมากขึ้น

ขณะที่ในตัวเมืองไชยะบุรีก็มีศูนย์การค้าจีนครบวงจรที่ดำเนินการโดยบริษัท ก้าวหน้าลาว จำกัด เปิดขึ้นริมเส้นทางไชยะบุรี-หลวงพระบาง รวมไปถึงที่เมืองไชยของแขวงอุดมไชย ก็มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ถึงกว่า 30% ของคนในพื้นที่นี้ทั้งหมด

(อ่านรายละเอียดใน “เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง หาใช่แค่...ไปกินมื้อเที่ยง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

เมื่อกลางปี 2550 นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม นำเสนอเรื่อง “เปิดตลาด (อินโด) จีน” เป็นเรื่องจากปก (www.gotomanager.com) ซึ่งให้ภาพการพัฒนาเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) พร้อมกับบ่งชี้ให้เห็นว่า เส้นทางสายนี้จะเป็นช่องทางทำให้จีนเคลื่อนทะลักเข้ามาในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ทั้งในแง่ผู้คน กลุ่มทุน และสินค้า ฯลฯ

เห็นได้จากก่อนที่ถนนคุน-มั่น กงลู่ จะเสร็จในปี 2551 ที่เมืองห้วยทราย แขวง บ่อแก้ว ก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาสร้างตลาดอินโดจีน ขึ้นบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5 และกลายเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากจีนทุกชนิดตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า จานดาวเทียม ฯลฯ มีผู้ค้านับร้อยๆ รายที่ล้วน แต่เป็นคนจีนทั้งสิ้น

เมื่อเดินทางไปตามเส้นทางสายนี้ในเขต สปป.ลาว หรือเส้นทางสาย R3a จนถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ที่อยู่ห่างจากเมืองห้วยทรายไปประมาณ 240 กม. อันเปรียบได้เป็น Gate Way ของแขวงทางตอนเหนือของลาวที่มีเส้นทางบกเชื่อมไปยังแขวงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม เมืองสิงห์และเชียงตุง เขตรัฐฉานของพม่า ตลอดจน เชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนา มณฑลหยุน หนัน ล้วนมีกลุ่มทุนจีนทั้งเล็ก-ใหญ่เข้ามา ปักหลักลงทุนในกิจการน้อยใหญ่เป็นจำนวน มาก ครอบคลุมทั้งการลงทุนด้านการเกษตร โรงแรม ท่องเที่ยว อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ค้าปลีก โลจิสติกส์ (Logistic) ฯลฯ

ที่สำคัญ 95% ของสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่วางจำหน่ายในหลวงน้ำทา ล้วนเป็นสินค้าจีนทั้งสิ้น

รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนจีน เข้ามาพัฒนาพื้นที่ชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน (พรมแดนลาว-จีน) จุดสิ้นสุดเส้นทาง R3a ที่ได้กลาย เป็นเมืองใหม่ของจีน ใน สปป.ลาวเต็มตัวไปแล้ว

(อ่านรายละเอียดใน “คุน-มั่น กงลู่” เส้นทางจีนสู่อาเซียน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 และ “สัมปทานรถโดยสารสาย R3a ที่สุดก็กลุ่มทุนจีน... (อีกแล้ว)” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 หรือ www.goto manager.com ประกอบ)

เช่นเดียวกับพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แถบสามเหลี่ยมทองคำ ฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่กำลังถูกพลิกโฉมหน้าจากหมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตให้เป็นย่านเศรษฐกิจ การค้าและบันเทิง โดยกลุ่มทุน ใหญ่จากจีน ในนามกลุ่ม “ดอกงิ้วคำ” ที่ดำเนินโครงการ Kings Romans of Laos Asian & Tourism Development Zone ที่เข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่แถบสามเหลี่ยมทองคำฝั่ง สปป.ลาว สร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์-โครงการต่อเนื่อง มูลค่านับหมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ 7,500 ไร่ ภายใต้สัญญาสัมปทานพื้นที่ 99 ปี (จากเดิมที่ได้รับสัมปทาน 5,168.75 ไร่ อายุสัมปทาน 15 ปี)

ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว จากที่ตั้งเป้าให้โครงการแล้วเสร็จ ภายใน 10 ปี โดยแผนพัฒนาบางส่วนเสร็จแล้ว เช่น โรงแรมสวนงิ้วคำ ขนาด 3 ดาวจำนวน 3 แห่งรวมห้องพัก 700 ห้อง สนามแข่งม้า ถนนโครงข่ายภายในโครงการพื้นที่ทางการเกษตร ท่าเรือ ด่านพรมแดน บ่อนกาสิโนแห่งที่ 1 ฯลฯ คิดเป็นประมาณ 30% ของโครงการทั้งหมด

ล่าสุดกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างห้างสรรพสินค้า เขตการค้าเสรี สถานบันเทิงบนเกาะดอนซาว เขื่อนเรียงหินริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และสนามบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างได้ในอีก 1-2 ปีนี้ รวมทั้งสนามกอล์ฟ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะก่อสร้างถนนสายเมืองมอม (เมืองหน้าด่านริมฝั่งแม่น้ำโขง ของ สปป.ลาว ตั้งอยู่เหนือสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามบ้านปง หรือเมืองพง ของพม่าเป็น 1 ในจุดที่มีการก่อสร้างท่าเรือริมแม่น้ำโขง ตามข้อตกลงการเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ ในแม่น้ำโขง (ล้านช้าง)-ห้วยทราย เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างบ่อนกาสิโนแห่งใหม่ ขนาดเทียบเท่ากับบ่อนกาสิโนที่มาเก๊า

(อ่านรายละเอียดในเรื่อง “เซินเจิ้นลาวบนสามเหลี่ยมทองคำ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้กำลังถูกเฝ้ามองจากสังคมพื้นถิ่นของ สปป.ลาว ด้วยความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในที่สุดกลุ่มชาวจีนจะรุกเข้ามายึดกุมระบบเศรษฐกิจตาม จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ไปอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่คนลาวจะถูกเบียดไปอยู่ชายขอบแทน

โดยหลายคนสะท้อนออกมาว่าพวกเขายังสงสัยไม่หายว่า พ่อค้าจีนเข้ามาอยู่ได้อย่างไร

ทั้งที่สินค้าที่นำมาขาย ล้วนแต่ราคาถูกแสนถูก ไม่รู้เอากำไรมาจากไหน แถมต้องแบกค่าเช่า ที่ต้องยอมรับว่าพ่อค้าชาวจีนสู้ราคา จนทำให้ราคาที่ดิน-ค่าเช่าอาคาร ตามหัวเมืองยุทธศาสตร์ทั่ว สปป.ลาว รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์พุ่งสูงขึ้นจนเกินกำลังคนท้องถิ่นที่จะเช่าหรือ ซื้อได้แล้ว

แน่นอน ความวิตกกังวลนี้บ่งบอกถึงอนาคตที่คนลาวต้องเผชิญอยู่ด้วย

ทำนองเดียวกัน ปรากฏการณ์คนจีนบนแผ่นดินลาวก็เป็นบทเรียนที่น่าศึกษายิ่งสำหรับไทย   
 



-- Edited by buckhumnoy on Thursday 17th of November 2011 10:56:56 AM

__________________
Anonymous

Date:
RE: อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!
Permalink   
 


ຂອບໃຈທີ່ກັອບມາໃຫ້ອ່ານ.



__________________


Newbie

Status: Offline
Posts: 2
Date:
Permalink   
 

ຄົນຈີນພາກັນລັ່ງໄຫຼເຂົ້າມາລາວປານສາຍນ້ຳ ເປັນຫຍັງນໍ ພັກລັດ ຄືບໍ່ສະກັດກັ້ນແມ່ນແຕ່ເຂດສອກຫຼີກທຸລະກັນດານສໍ່າໃດພວກເຂົາກໍ່ໄປເຖິງ ເປີດຮ້ານຂາຍສິນຄ້າຢ່າງສະບາຍ ຈັກມີ Passport ຫຼືບໍ່ມີ ມາເປີດຮ້ານໄດ້ຈັ່ງໃດໃຜອະນຸ
ຍາດໃຫ້ຕ່າງຊາດເຂົ້າມາດຳເນີນທຸລະກິດຢ່າງເສລີແບບນີ້ ນີ້ບໍ່ຄວາມສະຫຼາດສ່ອງໄສຂອງພັກຂອງລັດ ບໍ່ມີປະເທດໃດໃນໂລກເຮັດຄືປະເທດລາວດອກ

__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.



Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard