ธนาคารโลกชี้ ศก.จีนถึงจุดเปลี่ยน
เอเอฟพี - ธนาคารโลกเผยรายงานฯ ระบุว่าจีนได้มาถึงจุดเปลี่ยนในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนแล้ว คาดหากไม่เปลี่ยนย่อมกระทบต่อการขยายตัวในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้าอย่างแน่นอน นักวิเคราะห์เผยในรายงานฯ ว่า ยักษ์ใหญ่เอเชียอย่างจีนต้องยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการชะลอตัวเฉียบพลัน ด้วยวิธีการปรับลดขนาดรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งลงอย่างกว้างขวาง ต้องล้มเลิกระบบผูกขาดของรัฐบาลในธุรกิจภาคยุทธศาสตร์สำคัญหลายอย่าง Robert Zoellick ประธานธนาคารโลก เผยในเอกสารการศึกษาอนาคตจีนปี 2573 ว่า “หลังจาก 30 ปีแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในอดีตมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่รูปแบบเศรษฐกิจจีนที่พึ่งพาการส่งออกและอาศัยการลงทุนเป็นตัวขับดันนั้น จะไม่เสถียรอีกต่อไป” “ขณะนี้จีนจะไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว เพราะว่าจีนได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาแล้ว จีนต้องปรับรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เสถียรนี้ให้สอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก” Zoellick กล่าวในงานแถลงที่กรุงปักกิ่ง รายงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและรองนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง สองดาวเด่นผู้นำคอมมิวนิสต์ที่เล็งกันว่าจะก้าวขึ้นมาแทนที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนากยกเวิน จยาเป่าของจีนในช่วงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจผู้นำจีนในปลายปีนี้ (2555) แม้ว่าผู้นำระดับสูงของจีนจะเห็นดีเห็นงามกับรายงานของธนาคารโลก กอปรกับศูนย์วิจัยการพัฒนาภายใต้คณะมุขมนตรีจีนเองก็เห็นชอบด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเจอแรงต้านจากประชาชนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากรูป แบบเศรษฐกิจแบบเก่าก็เป็นได้ Zoellick กล่าวว่า “การปฏิรูปไม่ใช่ของง่าย บางทีมันอาจทำให้เศรษฐกิจถอยหลังก็ได้” นายหลิว ซื่อจวิน รองผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยการพัฒนาของจีน เผยว่า การปฏิรูปนั้นจำเป็นสำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับสองอย่างจีนมาก หากไม่ปรับยุทธศาสตร์แล้ว เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอยู่ที่ 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปีภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์ ผู้นำจีนมักจะพูดคุยกัน เกี่ยวกับความจำเป็นในการปฏิรูปรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยลดการพึ่งพิงการส่งออก แล้วให้หันมาบริโภคสินค้าในประเทศแทน อย่างไรก็ตามการปฏิรูปของจีนอาจล่าช้า เนื่องจากผู้นำจีนต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้องการสร้างงานให้คนในชาติ 1,300 ล้านคน กอปรกับต้องการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุไม่สงบในสังคมจีนไปพร้อม ๆ กัน รายงานฯ ได้เสนอแนะมาตรการหลายอย่าง อาทิ การควบคุมขอบข่ายอิทธิพลของรัฐไม่ให้เข้าไปยุ่งในกิจการรัฐวิสาหกิจ การเลิกระบบผูกขาด และทำให้หน่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ขึ้น จีนจำกัดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ พลังงาน การเงิน การธนาคาร และการโทรคมนาคม ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากคู่แข่งต่างชาติว่าตลาดจีนขาดความเป็นธรรมในเชิง ปฏิบัติและกฎหมาย เอกชนในจีนมักจะบ่นกันว่าขาดความเป็นธรรมในการแข่งขัน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์จีนได้โดยง่าย รายงานฯ ฉบับดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้ปักกิ่งปฏิรูประบบธนาคารของจีนให้เป็นแบบ ธนาคารพาณิชย์ พร้อมค่อย ๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับตลาดเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นรายงานฯ ยังแนะให้จีนเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคม การคุ้มครองเกษตรกรด้านสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตร และสร้างแรงบันดาลใจให้กับบริษัทต่าง ๆ ในการลงทุน ตลอดจนเน้นให้ภาคครัวเรือนหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “มาตรการที่เป็นรูปธรรมเหล่า นี้ล้วนจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง” หลี่ เว่ย หัวหน้าศูนย์วิจัยการพัฒนาของจีนกล่าวทิ้งท้าย