แม่หญิงลาว...เธอผู้น่าสงสารเด็กสาววัยไม่ถึง 15 ปีนั่งเหม่อลอยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ เธอใจลอยได้ไม่นาน เจ้านายร่างใหญ่ก็เดินออกมากระชากผมแล้วลากเธอเข้าไปในบ้านหลายครั้งที่สงสัยว่าเธอเป็นใคร ทำไมถึงต้องตกมาอยู่ในสภาพเช่นนี้...หลัง จากนั้นไม่นานก็มีข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กหญิง ชาวลาว 19 คน ที่ถูกทารุณกรรมจากการเข้ามาใช้แรงงานในเมืองไทย หนึ่งในนั้นคือสาวน้อยวัยเพียง 14 ที่เราเคยเห็น...แม่ หญิงลาววัยละอ่อนกับเพื่อนอีก 18 คน ที่หลุดพ้นออกมาจากนรกแรงงาน เข้ามารับการรักษา บำบัด ฟื้นฟูจิตใจที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ จังหวัดนนทบุรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่เข้าไปคุยกับเธอ เธอยังคงมีแววตาที่หวาดกลัว ร่างกายก็ยังไม่หายบอบช้ำ
จัน ดี แม่หญิงลาว ใบหน้านวลงาม เล่าว่า นายหน้าชาวลาวติดต่อให้มาทำงานที่เมืองไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีงานให้ทำเยอะ เงินดีกว่าเมืองลาว จึงมาเมืองไทยด้วยหัวใจพองโต แม้จะต้องเสียค่านายหน้าเกือบ 5,000 บาท ก็ตาม"นาย หน้าชาวลาวมาส่งที่เมืองไทยและนายจ้างเป็นคนไทยมารับไปอยู่ด้วย เขาให้ร้อยมาลัย ทำงานตั้งแต่ตีห้าถึงสองทุ่ม ทำทุกวันไม่มีวันหยุด ยิ่งถ้าเป็นวันพระต้องตื่นมาร้อยมาลัยตั้งแต่ตีสี่ บางวันไม่สบายลุกขึ้นมาทำงานไม่ไหว นายจ้างก็จะมาถึงที่นอนเลย มาทุบจนต้องตื่นลุกออกจากที่นอน"เพราะต้องนั่งร้อยพวงมาลัยทุกวัน มือของเธอจึงเต็มไปด้วยรูที่เกิดจากเข็มร้อยมาลัย"หนู ทำงานไม่ได้ค่าแรงเลย นายจ้างบอกว่าจะส่งไปให้ทางบ้านที่แขวงสะหวันนะเขตเอง นายไม่ให้มีเงินติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว บางวันได้กิน 2 มื้อ บางวันก็ได้กินมื้อเดียว ข้าวที่กินก็เป็นข้าวเปล่าๆ บางวันก็เหมือนจะเสีย แต่หิวก็ต้องกิน" เธอเล่าด้วยความอัดอั้นข้างๆ จันดี แม่หญิงลาวอีกคน นางสาววัย 18 เส้นทางชีวิตของนางดูไม่ต่างจากจันดีสักเท่าไร เธอเล่าว่า ครอบครัวของเธอยากจนมาก เมื่อมีโอกาสจะได้ทำงานเธอจึงไม่คิดมาก นางตัดสินใจมาเมืองไทย "มาทำงานร้อยมาลัยเหมือนกัน มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2551 นายหน้าชาวลาวบอกว่าจะหางานที่เงินเดือนดีๆ ให้ โดยเสียค่านายหน้า 4,500 บาท แล้วก็มีคนไทยมารับไปทำงานร้อยพวงมาลัยขาย นายจ้างให้ทำงานตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. ไม่มีวันหยุด เพื่อนลาวบางคนถูกบังคับให้ออกไปขายพวงมาลัยด้วย มือและนิ้วของหนูถูกน้ำยาที่แช่ดอกไม้กัดจนเป็นแผลเปื่อย แต่นายจ้างไม่ให้ไปหาหมอ""ส่วนเรื่องกิน จะได้กินไม่ครบทุกมื้อ ส่วนใหญ่นายจ้างจะไปขอข้าวจากวัดมาให้กิน ค่าแรงจะได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท แต่นายจ้างจะหักเป็นค่ากิน ค่าที่พัก ส่วนที่เหลือนายจ้างบอกว่าจะส่งให้กับพ่อแม่ที่ลาว ทุกคนที่ทำงานส่วนใหญ่เป็นเด็กลาว พวกเราทั้งกลัวและเสียใจอยากกลับบ้านมาก" เธอระบายความทุกข์นี่เป็นเพียงตัวอย่างของแม่หญิงลาวที่ระหก ระเหินมาตกนรกแรงงานในไทย แม้ตอนนี้ไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ต่อต้านการค้ามนุษย์กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว เขมร เวียดนาม และพม่า โดยให้ความสำคัญในการป้องกันการค้ามนุษย์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก รวมทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและตัวบทกฎหมายก็น่าจะเชื่อมั่นใน มาตรการรับมือและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเหล่านี้แดงขึ้นมาก็สะท้อนให้เห็นว่า...ความจริงกลับไม่เป็น เช่นนั้น!!!