ลาวฟื้นเขื่อน 500 เมกะวัตต์ “น้ำเทิน 1” หลังพับไป 3 ปี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการลาวได้เซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจฉบับหนึ่งกับกลุ่มบริษัท ก่อสร้างสัญชาติลาวสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางของประเทศ หลังจากโครงการนี้มีปัญหาด้านเงินทุนอันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และต้องล้มเลิกไปเมื่อ 4 ปีก่อน การเซ็นเอกสารเพื่อสำรวจศึกษาโครงการเขื่อนน้ำเทิน 1 มีขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่าง ดร.บุนทะวี สีสุพันทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแผนการและการเงิน กับ นายพอนสัก วิไลสัก ประธานกลุ่มพอนสักจำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายหน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน หนังสือพิมพ์ของทางการลาวรายงาน การสำรวจศึกษาโครงการจะใช้เวลา 18 เดือน หนังสือพิมพ์ "ประชาชน" เศรษฐกิจ-สังคมรายงานโดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนโครงการ แหล่งทุนหรือกลุ่มร่วมลงทุนใดๆ รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว กลุ่มกามุดาจากมาเลเซีย และบริษัทลูกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจากประเทศไทย เคยก่อตั้งบริษัทร่วมทุนโดยถือหุ้น 20-40-40 ตามลำดับเพื่อก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 1 ที่มีกำลังปั่นไฟขนาด 525 เมกะวัตต์ การศึกษาในชั้นต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเกือบ 760 ล้านดอลลาร์ แต่ภายหลังได้พบว่า ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นราว 30% นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับความต้องการกระแสไฟฟ้าจากไทยที่ไม่แน่นอนอัน เนื่องจากวิกฤติการทางการเงินโลกในช่วงปีดังกล่าว ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ลงทุนตัดสินใจพับโครงการนี้ไปในเดือน ธ.ค. 2551 น้ำเทิน 1 เป็นเขื่อนขนาดใหญ่แห่งที่ 4 ในลุ่มน้ำเทิน-น้ำกะดิ่ง ที่ไหลเป็นทางยาวจากเขตที่ราบสูงนากายชายแดนลาว-เวียดนามในแขวงคำม่วน ไปลงแม่น้ำโขงที่เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ ถัดจากเขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนเทินหินบูนกับเทินหินบูนส่วนต่อขยาย ตามรายงานของสื่อทางการ น้ำเทิน 1 เป็นหนึ่งในบรรดา 9 เขื่อน ที่จะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ไทยรวมกว่า 5,400 เมกะวัตต์ตามแผนการภายในปี 2558 ร่วมกับเขื่อนน้ำเทิน 2 น้ำงึม 2 และ 3 หงสาลิกไนต์ เทินหินบูนภาคขยาย น้ำเงียบ 1 น้ำบาก 1กับโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามแผนการในขณะนี้ เขื่อนน้ำเทิน 1 จะสร้างขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำกะดิ่ง ซึ่งเป็นเขตชีวะนานาพันธุ์อันอุดมที่สุดแห่งหนึ่งในลาว และกำลังจะส่งผลกระทบต่อป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างกว้างขวาง การศึกษายังพบว่าจะต้องโยกย้ายราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง เขื่อนโดยตรงราว 3,000 คน ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกล่าวว่าเขื่อนแห่งนี้กำลังจะส่งผลกระทบ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรราว 30,000 ที่อาศัยและพึ่งพาลำน้ำสายนี้ ตามรายงานของสื่อทางการลาว ในปี 2552 บริษัทหุ้นส่วนฝ่ายไทยได้พยายามรื้อฟื้นเจรจาแก้ไขสัญญาเดิมเพื่อหาทางฟื้น โครงการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ข่าวคราวได้เงียบหายไปนับตั้งแต่นั้น.