ทางการพม่าเริ่มให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมใน วันนี้แล้ว ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งเพียงครั้งที่ 3 ในรอบกว่า 50 ปี และถือเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลพม่าที่พยายามจะปฏิรูปด้านต่างๆ ท่ามกลางการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ โดยนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรก
ด้านสหรัฐฯและกลุ่มสหภาพยุโรป แย้มว่านโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการกับพม่ามานานหลายปีอาจถูกยก เลิก หากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่ทำให้พม่าซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้นางซู จี ถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณในบ้านพักช่วง 22 ปีที่ผ่านมานานถึง 15 ปี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมในวันนี้ (1 เมษายน) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซู จี ส่งผู้สมัครลงชิงชัย 44 ที่นั่ง จาก 45 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งในวันนี้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาล แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นางซู จี มีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติได้เป็นครั้งแรก
คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าแถลงว่า คูหาเลือกตั้งเปิดให้ประชาชนมาใช้สิทธิกันตั้งแต่เวลา 06.00 น.เช้าวันนี้ (06.30 น.ในไทย) และกำหนดปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 16.00 น. โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 6 ล้านคน และคาดว่าจะทราบผลการเลือกตั้งได้ภายใน 1 สัปดาห์ ท่ามกลางการจับตาของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากนานาชาติ ทั้งหสภาพยุโรป และประเทศในกลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน
รายงานระบุว่า คูหาเลือกตั้งใน 45 เขตส่วนใหญ่ถูกจัดเตรียมไว้พร้อมสำหรับการลงคะแนน โดยผู้สมัครจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีรายหนึ่ง กล่าวว่า พวกเขาได้เตรียมความพร้อมสำหรับในวันพรุ่งนี้ โดยมีผู้แทนประจำหน่วยและผู้ที่จะให้ข้อมูลความคืบหน้า และเชื่อมั่นว่า พรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้ง
บรรดาผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดียังได้ตั้งจอแอลอีดีขนาดยักษ์ด้านนอกสำนัก งานใหญ่ของพรรคในนครย่างกุ้ง เพื่อรายงานผลการเลือกตั้ง ด้านนางซู จีได้ออกเดินทางไปยังเขตกอว์มู ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางจากนครย่างกุ้งราว 2 ชม. ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพม่าเชิญสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ต่างชาติเข้า สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ลงสมัครทั้งหมด 160 คน จาก 17 พรรคการเมือง