นักวิเคราะห์ระบุ สหรัฐฯ หวังปฏิรูปกองทัพพม่า
เอเอฟพี - หลังให้รางวัลพม่าสำหรับการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่การกดดันกองทัพทหารของพม่า เพื่อนำมาซึ่งการสิ้นสุดความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันยาวนานหลายทศวรรษ เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของสหรัฐฯ ระบุ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธ (4 เม.ย.) ว่า สหรัฐฯ จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางประการ รวมทั้งข้อจำกัดด้านการลงทุนต่อพม่า ตอบแทนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากฝ่ายค้านกวาดชัยชนะใน การเลือกตั้งซ่อม นับเป็นการดำเนินการครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีบา รัค โอบามา ในการผลักดันที่จะส่งเสริมการปฏิรูปในพม่า ที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งเข้าถึงฝ่ายค้าน และชนกลุ่มน้อยในประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวว่า กองทัพทหารพม่าดูเหมือนเป็นส่วนนอกในกระบวนการปฏิรูป เนื่องจากท้าทายคำสั่งของประธานาธิบดีเต็งเส่งในเดือนธ.ค. ที่ให้ยุติการปะทะสู้รบในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือของประเทศ “ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่จะเข้าถึงกองทัพ และนำพวกเขาเข้ามาอยู่ในกระบวนการ และทำให้แน่ใจว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการปฏิรูป” เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง ไม่ประสงค์ระบุนาม กล่าว แม้ว่าแผนสันติภาพจะได้รับการเห็นชอบไปเมื่อวันศุกร์ในรัฐกะเหรี่ยง แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย รวมทั้งรายงานที่น่าเชื่อถือในรัฐกะฉิ่นที่ระบุว่า มีการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธสงคราม การเกณฑ์เด็กมาเป็นทหาร และการบังคับใช้แรงงาน สหรัฐฯได้เรียกร้องต่อพม่าในระดับสูง ให้อนุญาตนำความช่วยเหลือไปยังรัฐกะฉิ่น หลังขบวนรถช่วยเหลือของสหประชาชาติเพิ่งจะดำเนินความช่วยเหลือสำเร็จ แต่ยังมีประชาชนอีกอย่างน้อย 50,000-60,000 คน อพอยพย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนจีน และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ “เรากำลังหารือเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับความช่วยเหลือจำนวนมหาศาลอย่างเร่งด่วนในเวลานี้” เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าว นางคลินตันเตือนว่า มาตรการคว่ำบาตรยังคงดำเนินอยู่ต่อไปกับบุคคล หรือองค์กรที่ขัดขวางความพยายามที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้พม่าตัดความสัมพันธ์ความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือ ท่ามกลางข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศก่อนที่พม่าจะเริ่ม ปฏิรูป ทอม มาลินาวสกี้ ผู้อำนวยการองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอช สำนักงานวอชิงตัน ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรเข้มงวดของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินอยู่ในภาคส่วนที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น อัญมณี ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้ ที่เป็นเงินทุนสำคัญของกองทัพพม่า แต่ผ่อนคลายข้อจำกัดในภาคส่วน เช่น โทรคมนาคม การเกษตร และการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์ในวงกว้าง “แนวความคิดคือ เราต้องการให้กองกำลังทหารในพม่าพึ่งพา และรับใช้พลเรือนมากขึ้น เราเห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรถูกใช้เพื่อมุ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เพียงเล็กน้อย แทนที่จะใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายจากรัฐบาลพม่า ที่ในตอนนี้ถูกใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนชุดหนึ่งในการเมือง” มาลินาวสกี้ กล่าว มาลินาวสกี้ระบุว่า การทดสอบของจริงจะขึ้นอยู่กับว่ากองทัพจะอนุญาตให้การเลือกตั้งในปี 2558 เป็นไปอย่างเสรี และยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว อาจนำความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงมาสู้พม่า ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เม.ย. นางอองซานซูจีชนะที่นั่งในรัฐสภาเป็นครั้งแรก แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางมีสมาชิกเพียง 37 คน ในสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 440 ที่นั่ง ซึ่งไม่สามารถค้านเสียงของกองทัพได้