จีน ย้ายคนนับแสนออกจากเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก
เขื่อนสามโตรก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวเฉพาะตัวเขื่อนเกือบ 3 กิโลเมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำยาว 640 กิโลเมตร จากปี 2552 จีนทดลองปล่อยน้ำสู่อ่างเก็บน้ำสูงสุด 175 เมตร ก็ปรากฏเหตุการณ์ดินถล่มฉับพลันเพิ่มกว่าที่คาดการณ์ (แฟ้มภาพ เอเจนซี)
นับจากปี 2552 มา โครงการเขื่อนสามโตรก หรือซันซย่า (Three Goges) ได้ทดลองปล่อยน้ำสู่อ่างเก็บน้ำฯ แตะระดับสูงสุด 175 เมตร 3 ครั้ง แต่การที่น้ำแตะระดับสูงสุดนี้ อาจส่งผลกระทบความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรณีที่น่ากลัวมากขึ้นภายใน 3-5 ปีนี้ ทั้งจากเหตุดินถล่ม และชายฝั่งพัง ดังนั้น จึงต้องย้ายชาวบ้านออกจากท้องที่ประมาณหนึ่งแสนคนในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากที่น้ำในเขื่อนแตะระดับสูงสุด ก็ได้เกิดเหตุการณ์ตลิ่งพังและดินถล่มอย่างฉับพลันในบริเวณเพิ่มกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินระดับที่คาดการณ์ไว้ หลิ่วกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตรวจสอบพื้นที่ในจุดต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อตรวจสอบผลกระทบจากระดับน้ำในเขื่อนสามโตรก และดำเนินมาตรการป้องกันจุดเสี่ยง 5,386 จุด ในจำนวนนี้มี 182 จุด ที่อาจได้รับผลกระทบสูง และได้ส่งผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเขื่อนสามโตรก ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกยังเพิ่มขึ้นไม่สร่างซา ในเดือน ม.ค. กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนได้เตือนผู้พัฒนาโครงการเขื่อนอีกว่าจะต้องให้ความ สำคัญกับ “ระบบนิเวศ” เป็นอันดับหนึ่ง และเคร่งครัดสนใจผลกระทบต่อแม่น้ำและชุมชน
ทั้งนี้ จีนได้ก่อสร้างเขื่อนสามโตรก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบริเวณหุบเขาซีหลิงเสีย เมืองอี๋ชัง มณฑลหูเป่ยซึ่งอยู่ติดชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉงชิ่ง โดยมีเป้าหมายป้องกันน้ำท่วม ผลิตพลังงานสะอาด ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างดุเดือด โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2537 โดยเฟสสุดท้ายจะแล้วเสร็จในปี 2552 นี้ ในการสร้างเขื่อนยักษ์ที่มีความยาวตัวเขื่อนร่วม 3 กิโลเมตรหลังนี้ ทำให้จีนต้องปล่อยน้ำท่วมเมืองต่างๆ ที่อยู่ริมฝั่งแยงซีเกียงถึง 116 เมือง เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ มีความยาวถึง 640 กิโลเมตร ระหว่างการก่อสร้างได้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ถึงราว 1.4 ล้านคน นับเป็นการอพยพคนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า จีนมีแผนย้ายคนออกจากพื้นที่อีกระลอก 4 ล้านคน ภายในปี 2563 นับเป็นการย้ายใหญ่กว่าครั้งแรกถึง 3 เท่าตัว