ລາວໂຮມລາວ ເພື່ອປະຊາທິປະໄຕ

Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว...ก้าวย่างเพื่อหลุดพ้นความทุกข์จน
Anonymous

Date:
มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว...ก้าวย่างเพื่อหลุดพ้นความทุกข์จน
Permalink   
 


 

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว...ก้าวย่างเพื่อหลุดพ้นความทุกข์จน

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.
 

ปี 2015 หลุดพ้นจากความทุกข์จน คำประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ลักษณะคล้ายคลึงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย แต่สิ่งที่อาจแตกต่างกันคือการนำแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ในทุกหน่วยงาน ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเพียงแห่งเดียวของรัฐบาลลาว

อาจารย์แก้วมณีวงศ์ พิมมะเสน รองหัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว บอกว่า รัฐบาลลาวได้กำหนดแผนดังกล่าวพร้อมวางเกณฑ์ปฏิบัติไว้ 4 ข้อ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการให้ถึงจุดหมายร่วมกัน ได้แก่ 1. การพัฒนาแบบแผนวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ในหน่วยงานหรือองค์กร 2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3. การพัฒนาระบบงานบริหาร และ 4. การดำรงชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้หลักการสำคัญของข้อกำหนดกว้าง ๆ เหล่านี้ คือการหลุดพ้นจากความทุกข์จนของประชากรทั่วทั้งประเทศ

“ในส่วนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมุ่งเน้นการบริหารงานเพื่อพัฒนา ทรัพยากรบุคคล โดยวางเป้าหมายการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ช่วงปี 2006-2009 มีเป้าหมายพัฒนาสัดส่วนอาจารย์ใน 10 คน จะต้องประกอบด้วย ปริญญาเอก 1 คน ปริญญาโท 2 คน และปริญญาตรี 7 คน ขณะที่ตั้งแต่ปี 2012-2015 จะต้องพัฒนาอาจารย์จากจุดเดิมเพิ่มเป็น ปริญญาเอก 1 คน ปริญญาโท 6 คน และปริญญาตรี 3 คน ด้วยเหตุผลในการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดทำให้มหาวิทยาลัยเลือก ที่จะพัฒนาอาจารย์ให้จบการศึกษาระดับปริญญาโท มากกว่าปริญญาเอกที่จะต้องใช้งบประมาณสูงต่ออาจารย์ 1 คน ดังนั้นจึงใช้วิธีเฉลี่ยให้เกิดการพัฒนาพร้อม ๆกัน ก่อนจะก้าวไปสู่เป้าหมายต่อไปในการพัฒนาอาจารย์คุณวุฒิปริญญาเอกให้เพิ่มมาก ขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีอาจารย์ที่จบปริญญาเอก จำนวน 60 คน ปริญญาโท 508 คน จากจำนวนอาจารย์ทั้งหมดกว่า 1,600 คน ขณะที่จำนวนนักศึกษาทุกระดับชั้นมีจำนวนกว่า 4 หมื่นคน”

สำหรับกลยุทธ์การพัฒนาด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จะเน้นรูปแบบการลงนามความร่วมมือหรือเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยนับตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน มีเอ็มโอยูแล้ว 152 ฉบับ ร่วมกับ 110 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันการศึกษาของไทย 28 ฉบับ ซึ่งในโอกาสการลงนามความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นเอ็มโอยู ฉบับที่ 3 หลังจากมีเอ็มโอยู ครั้งแรกร่วมกันในปี 1998 และครั้งที่ 2 ในปี 2005  ซึ่งทุกครั้งจะเกิดพัฒนาการจากความร่วมมืออย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ในปี 2012 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายคาดหวังจะเห็นการพัฒนาในด้านอาจารย์และหลักสูตรการศึกษาคณะวิศวกรรม ศาสตร์เป็นหลัก โดยเหตุผลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยฝ่ายลาว ซึ่งมองว่างานวิศวกรรมเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน

รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี สจล. เล่าว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมานานกว่า 20 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่การพัฒนาอาจารย์คุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของลาว ให้ไปเรียนที่ สจล.จนจบปริญญาตรี และบางส่วนศึกษาต่อจนจบปริญญาโทและปริญญาเอก สิ่งที่ได้รับในฐานะผู้ให้มีหลายอย่าง ทั้งแง่ชื่อเสียงในระดับภูมิภาค ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือต่อไปในอนาคตที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยเองไม่ให้เก่งแต่ใน บ้านแต่ต้องสามารถออกนอกบ้านไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย เหมือนที่ในอดีตเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาเช่นเดียวกัน

“วิศวกรรมคือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมในสาขาก่อสร้าง การสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยก ระดับการศึกษาด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยทั้งไทยและลาวให้เกิดการพัฒนาร่วม กัน อีกนัยหนึ่งนับเป็นการสร้างเวทีการแข่งขันกันเองในทางบวก คือต่างฝ่ายก็ได้พัฒนาและแข่งขันแบบร่วมมือกันเดินไปพร้อมกัน”

สำหรับ ศ.ดร.บัวลิน สร้อยสุวรรณ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคณะวิศวกรรม ศาสตร์ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 8 สาขาวิชา 16 หลักสูตร และระดับปริญญาโท 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ส่วนระดับปริญญาเอกยังไม่มีการจัดการเรียนการสอน โดยความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท เพิ่มเติมอีก 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์, วิศวกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คาดว่าจะดำเนินการขอเปิดหลักสูตรให้ได้ภายในปี 2013

“ทั้ง 4 หลักสูตรที่จะเปิดใหม่เป็นความต้องการของบัณฑิตเอง โดยปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษาปริญญาตรี รวมทุกสาขา ประมาณ 5 พันคน นอกจากนี้บัณฑิตวิศวะสาขาต่าง ๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บัณฑิตทั้งในภาคราชการและเอกชน ขณะที่การเตรียมความพร้อมอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่จะเปิดใหม่ก็ต้องขอความ ร่วมมืออาจารย์จาก สจล.ในช่วงปีแรก ประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนอาจารย์ที่ต้องการใช้ทั้งหมด ในระหว่างนั้นก็จะพัฒนาอาจารย์ของลาวเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ในปีการศึกษา ต่อ ๆ ไป”
อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันมหา วิทยาลัยแห่งชาติลาวอาจจะยังขาดความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบการ เรียนรู้ โดยเครื่องมือรุ่นที่ใหม่ที่สุดได้มาจากความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ ปี 1980 แต่อาจารย์แก้วมณีวงศ์ก็บอกว่า “การบริหารงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จะมีหลักคิดในการพึ่งตัวเองให้ได้เป็นสำคัญ โดยเปรียบชีวิตในการทำงานเหมือนชีวิตของบุคคลหนึ่ง แม้ไม่มีเงิน ก็ต้องปลูกผัก ต้องสร้างบ้าน ทำทุกทางเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ทุกอย่างต้องทำให้ได้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งนั่นคงเป็นที่มาของความพยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อเป้าหมายพัฒนาระบบการศึกษาลาวให้ก้าวต่อไป เพื่อไปให้ถึงความต้องการสุดท้ายร่วมกันของคนทั้งชาติ”.



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.



Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard