สหรัฐฯ กลับคืนถิ่นฐานทัพเก่า อ่าวกามแร็งเวียดนาม
เอเอฟพี - นายลีออน เอ็ดเวิร์ด พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) ว่า ท่าเรือที่กองทัพสหรัฐฯ เคยใช้งานสมัยสงครามเวียดนาม มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเคลื่อนย้ายกองกำลังของสหรัฐฯ มายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การเยือนอ่าวกามแร็งของนายพาเนตตา เป็นการเดินทางเยือนครั้งแรกของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 และเป็นการเยือนที่สะท้อนความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นกับอดีตคู่อริ เพื่อตอบโต้ท่าทีรุกรานที่เพิ่มมากขึ้นของจีน “การเข้าถึงของกองเรือสหรัฐฯ ยังท่าเรือแห่งนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์นี้ และเราเห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของพื้นที่” นายพาเนตตากล่าวกับผู้สื่อข่าวบนชั้นดาดฟ้าของเรือริชาร์ด อี เบียร์ด (USNS Richard E Byrd) เรือลำเลียงขนส่งสำหรับกองเรือของสหรัฐฯ ที่เทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือกามแร็ง ตามแผนใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะเคลื่อนย้ายกองเรือรบส่วนใหญ่มายังมหาสมุทรแปซิฟิกภายในปี 2563 เพเนตตาระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ “นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่สหรัฐฯ จะสามารถทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเช่นเวียดนามในการใช้ท่าเรือ เพื่อที่เราจะสามารถเคลื่อนย้ายเรือจากท่าฝั่งตะวันตกมาประจำการในแปซิฟิก” นายพาเนตตา กล่าว ท่าเรือกามแร็งตั้งอยู่ในพื้นที่อ่าวตามธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่ง หนึ่งในภูมิภาค และสหรัฐฯ มองว่า ท่าเรือแห่งนี้เป็นจุดที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมทัพเรือสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ที่มีความสำคัญทางกลยุทธ์ เวียดนามเพิ่งจะอนุญาตให้เรือต่างชาติ เช่น สหรัฐฯ ใช้ท่าเรือกามแร็งเป็นที่จัดเตรียมเสบียง และบำรุงรักษาเรือ แต่เวียดนามจำกัดจำนวนเรือที่เข้าเทียบต่อปี และนักวิเคราะห์ระบุว่า สหรัฐฯ มีความประสงค์ที่จะขยายการเข้าถึงท่าเรือแห่งนี้ซึ่งอาจรวมถึงเรือรบด้วย การเยือนของพาเนตตา สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม รวมทั้งการแข่งขันที่ขยายตัวขึ้นระหว่างจีน และสหรัฐฯ โดยมีทะเลจีนใต้ที่เป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ พาเนตตาระบุว่า แม้ทั้งสองฝ่ายต่างเสียเลือดเนื้ออย่างมากมายในสงครามที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดคือ ความเสียสละ ซึ่งสหรัฐฯ และเวียดนามสามารถสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งเพื่ออนาคตของสองประเทศ และต้องการยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านกลาโหมเมื่อปีก่อน และนายพาเนตตาจะเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนาม ในกรุงฮานอย ระหว่างการเยือนเป็นเวลา 2 วัน ท่าเรือกามแร็งเป็นหนึ่งในสามฐานทัพหลักของสหรัฐฯ ในสมัยสงคราม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานประจำการฝูงเครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง และกองกำลังทหาร ภายหลังสิ้นสุดสงคราม เวียดนามได้ปล่อยเช่าพื้นที่ดังกล่าวให้แก่สหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น จนถึงปี 2545 ในการประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ นายพาเนตตาเปิดเผยว่า สหรัฐฯ มีแผนที่จะส่งเรือเข้าประจำการในแปซิฟิกมากขึ้น ซึ่งสะท้อนความวิตกกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงกองกำลังทหารของจีน แต่นายเพเนตตายืนยันว่า กลยุทธดังกล่าวไม่ได้เป็นการท้าทายจีนแต่อย่างใด ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทั้งหมดในทะเลจีนใต้ที่เชื่อว่าเต็มไปด้วยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และยังเป็นหนึ่งในสามเส้นทางเดินเรือพาณิชย์สำคัญในภูมิภาค ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนาม และจีนมีเหตุขัดแย้งทางการทูตบ่อยครั้งเกี่ยวกับสิทธิการทำประมง และการสำรวจแหล่งน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การดำเนินการเชิงรุกที่มากขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ ส่งผลให้เวียดนามหันไปร่วมมือด้านการป้องกันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น.