กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาทันทีเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลและกองทัพไทยไฟเขียว ให้องค์การการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือ "นาซา" ใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อทำการศึกษาสภาพภูมิอากาศในโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study หรือ SEAC4RS
แม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการศึกษาสภาพอากาศของนาซาจริง และไม่มีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา หรือ "เพนตากอน" เข้ามาแอบแฝงพัฒนาโครงการดาวเทียมหรือเครื่องบินสอดแนมเพื่อคุกคามจีน และเป็นข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับวีซ่าเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ดูเหมือนว่าเสียงวิจารณ์ก็ยังดังระงมอยู่ สำหรับที่มาของโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการประชุมสุด ยอดความมั่นคงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 หรือแชงกรี-ลาไดอะล็อก ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมของไทย และนายลีออน แพนเน็ตต้า รมว.กลาโหมของสหรัฐ เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยระหว่างการประชุมดังกล่าว สหรัฐได้ขออนุญาตใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อใช้ในโครงการศึกษาสภาพการ เปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของนาซา สำหรับจอดอากาศยาน อำนวยความสะดวกเรื่องเส้นทางการบิน และใช้อาคารภายในสนามบินสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกว่า 100 นาย รายละเอียดของโครงการระบุว่า สหรัฐขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อตรวจสภาพชั้นบรรยากาศ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างนาซา และองค์กรวิจัยกริดดาร์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ใช้ระยะเวลาปฏิบัติการประมาณ 2-3 เดือน ก่อนจะไปสำรวจต่อที่มาเลเซีย ทั้งนี้ คำขออนุญาตใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นไปตามการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงมีการเดินทางเยือนไทยของ พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกาหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ที่โยงถึง พ.ต.ท.ทักษิณว่า “ข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลไทยยอมให้สหรัฐเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนกับวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีจริงๆ และไม่เกี่ยวกันเลย พ.ต.ท.ทักษิณสามารถเดินทางเข้าออกประเทศไหนก็ได้อยู่แล้ว แม้แต่ประเทศอังกฤษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เข้าไปได้เลย ถือเป็นเรื่องเล็ก แต่หากจะขอแลกเปลี่ยนกันต้องขอมากกว่านี้” ส่วนข้อกังวลว่าจีนจะหวาดระแวงการเข้ามาของสหรัฐนั้น พล.อ.อ.สุกำพลมั่นใจว่าจีนจะไม่เกิดความหวาดระแวง และจีนก็ถือว่าเป็นพันธมิตรที่ดีกับไทย พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวถึงรูปแบบการสำรวจสภาพอากาศว่า นอกจากการบินสำรวจในน่านฟ้าไทยแล้ว ยังมีการบินสำรวจในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทั้งลาว กัมพูชา และมาเลเซีย แต่จะต้องขออนุญาตประเทศนั้นๆ ก่อน แต่สำหรับประเทศพม่า และจีน ไม่ได้บินผ่าน เพราะเป็นห่วงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาจีนก็ไม่เคยตั้งคำถาม เพราะเข้าใจว่าเป็นการดำเนินการด้านมนุษยธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร “รัฐบาลจะเป็นผู้เห็นชอบและอนุญาต แต่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมเห็นด้วย และได้ทำเรื่องไปยังรัฐบาลว่าการดำเนินการไม่ได้กระทบความมั่นคง แต่เจ้าของเรื่องอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HDRC : Humanitarian and Disaster Relief Centre) ที่สหรัฐขอมาจัดตั้งที่สนามบินอู่ตะเภาเช่นกันนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มต้นที่การฝึกคอบร้าโกลด์ก่อน” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว พล.อ.อ.สุกำพล ย้ำว่า อย่ามองว่าสหรัฐจะมาตั้งฐานทัพ และที่ผ่านมาก็ทำมาหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น คอสตาริกา ฯลฯ โดยมีเครื่องบินโดยสารแบบ DC-8 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ P-3 ที่กองทัพเรือเคยประจำการอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน ซึ่งบินทดสอบบรรยากาศ เก็บข้อมูลต่างๆ เพราะการเก็บข้อมูลผ่านดาวเทียมยังไม่ละเอียดเพียงพอ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ไทยจะพิจารณาอนุญาตแผนการบินที่ส่งมา และหน่วยงานความมั่นคงของไทยต้องเข้าไปดูทุกอย่างที่เข้ามา โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐจะเข้ามาในระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน นี้ และอีก 4-5 ปี จะกลับมาสำรวจใหม่อีกครั้ง ซึ่งนาซาและกองทัพสหรัฐเป็นคนละเรื่องกัน "สหรัฐรู้อยู่แล้วว่าไทยไม่ยอมให้ใครมาตั้งฐานทัพในประเทศ จึงอยากให้เข้าใจว่าไม่เกี่ยวกับความมั่นคง และไม่ได้นำอาวุธอะไรเข้ามาเลย แต่เรื่องทั้งหมดยังไม่ได้อนุญาต เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงต่างประเทศที่จะนำเสนอรัฐบาล เพื่อผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่รู้จะเข้าสัปดาห์ไหน” รมว.กลาโหมกล่าวชี้แจง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบาย และแผนกลาโหม กล่าว ในรายการลับลวงพราง ทางคลื่น อสมท 100.5 ว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญกระทรวงกลาโหมร่วมประชุมเพื่อเตรียมการเรื่อง นี้ โดยสหรัฐให้อิสระไทยในการร่างข้อตกลงในรูปแบบที่ทางไทยสบายใจ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้เขามาทำอะไรบ้าง พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสอบถามเข้ามา เพราะนาซาได้แจ้งให้ชาติอาเซียนทุกประเทศรับทราบก่อนแล้ว และความจริงอู่ตะเภาก็เป็นสนามบินนานาชาติ แต่กองทัพเรือดูแล แล้วเมื่อตอนเกิดพายุนาร์กีสปี 2551 ที่พม่า และน้ำท่วมใหญ่ของไทย เมื่อปลายปีที่แล้ว สหรัฐและหลายชาติก็เข้ามาช่วยเหลือ โดยใช้สนามบินอู่ตะเภา พล.อ.นิพัทธ์ ชี้แจงว่า นาซาได้ทำตามขั้นตอนประสานกับกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะนำเครื่องบินมา 4 ลำ คือเครื่องบิน Gulf Stream 2 ลำ เครื่องบิน DC-8 ปรับปรุงดัดแปลง 1 ลำ และเครื่อง P-3 อีก 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ราว 100 คน โดยเปิดเผยแผนการบินทั้งหมด และให้นักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาไทยเข้าร่วมศึกษาด้วย พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า ขอให้สบายใจว่ากองทัพ กระทรวงกลาโหม และ ฝ่ายความมั่นคง ได้พิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องดุลอำนาจระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเรามีความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ สำคัญที่ว่า เราจะรักษาสมดุลให้ได้อย่างไร จะเห็นว่าแม้ไทยกับสหรัฐจะมีการฝึกขนาดใหญ่ที่สุด คือคอบร้าโกลด์ แต่กับจีนเราก็ชวนให้เขามาฝึกร่วมทางทหารด้วย และตอนที่เราน้ำท่วมนั้น ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือไทยเรามากที่สุด เร็วที่สุด และมีมูลค่าสูงสุดก็คือจีน รองลงมาก็เป็นสหรัฐ และอีกหลายประเทศ ขณะที่แหล่งข่าวความมั่นคงแจ้งว่า นาซาได้คัดเจ้าหน้าที่ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ของนาซาที่มีเชื้อสายไทยร่วมคณะมาด้วย รวมทั้ง ดร.ก้องภพ อยู่ เย็น วิศวกรไทยคนเดียวในนาซาเพื่อให้ไทยสบายใจขึ้นว่า นาซามาเพื่อสำรวจสภาพอากาศจริงๆ ไม่ได้แอบส่งเครื่องบินหรือดาวเทียมจารกรรมมาสอดแนมจีน