วันนี้ (29 มิ.ย.) ชาวกัมพูชาประมาณ 200 คน ร่วมชุมนุมประท้วงโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีของลาว ที่นักเคลื่อนไหวอ้างว่ายังคงเดินหน้าก่อสร้าง ละเมิดข้อตกลงประเมินผลกระทบต่อชีวิตประชาชนนับล้านก่อนดำเนินโครงการ
ชาวกัมพูชากลุ่มดังกล่าว ซึ่งพึ่งพาแม่น้ำโขงในการยังชีพ เรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 108,500 ล้านบาท)
โซ ปรา พระสงฆ์รูซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงที่จังหวัดกำปงจาม ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 124 กิโลเมตรกล่าวว่า เขื่อนดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อชาวกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชาวลาวในหลายภูมิภาค
เขื่อนไซยะบุลี ถือเป็นหนึ่งในหลายเขื่อนที่ทางการลาว ต้องการใช้เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าราว 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต้องการเป็น"แบตเตอรีแห่งเอเชีย" โดยการส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลต่างชาติต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบอันจะเกิดต่อสภาพแวด ล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรู้สึกว่า เขื่อนดังกล่าวขาดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ
เขื่อนไซยะบุลีถือเป็นเขื่อนแรกของทั้งหมด 11 เขื่อน ที่มีแผนสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง มูลค่าโครงการนี้ราว 115,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ตามข้อมูลที่ได้มาบริษัทไซยะบุลี พาวเวอร์ เป็นผู้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้า และ ช.การช่าง ถือหุ้นในไซยะบุลี พาวเวอร์ราว 50% บริษัทนทีซินเนอร์ยี 25% บมจ.ผลิตไฟฟ้า 12.5% บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ 7.5% และบริษัท พี.ที. คอนสตรัคชั่น แอนด์ อิริเกชั่น 5%
ตามข้อตกลงไซยะบุลี พาวเวอร์ จะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 95% ตลอดอายุสัมปทาน 29 ปี และขายให้การไฟฟ้าลาว 60 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 2019
ลาวตกลงเมื่อเดือนธันวาคมว่า จะระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีระหว่างรอคณะผู้เชี่ยวชาญต่างชาติประเมิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มแม่น้ำสากลในสหรัฐออกรายงานเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า เห็นบริษัทก่อสร้างของไทยที่ถือหุ้นในเขื่อนร้อยละ 57 เดินหน้าการก่อสร้างขั้นต้นด้วยการอพยพชาวบ้าน ระดมแรงงาน สร้างกำแพงกันดินขนาดใหญ่ และขุดลอกท้องน้ำแม่น้ำ