เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจรายงานโดยรอยเตอร์ ว่า นายทองลุน สีสุลิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของลาว ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่ารัฐบาลลาวตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง และจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม หลังจากกรณีเขื่อนไซยะบุรีถูกทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ทั้งองค์กรสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน รวมทั้ง นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเยือนลาวอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อน
เป็นที่น่าแปลกใจว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางการลาวไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้เริ่มก่อสร้างโครงการแล้ว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ได้กําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (พีเอ็นพีซีเอ) ซึ่งกําหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของเอ็มอาร์ซี (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่น โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อน) บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชน หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ
โครงการไซยะบุรีเป็นโครงการเขื่อนแห่งแรกที่นำข้อตกลงนี้มาปฏิบัติ และครบวาระ 6 เดือน ไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีข้อยุติว่า 4 ประเทศ สมาชิกยินยอมให้สร้างเขื่อนหรือไม่ แต่ครั้งนี้รัฐมนตรีลาวกลับแจ้งว่าจะระงับโครงการ และทำการศึกษาเพิ่มเติม เท่ากับเป็นการยอมรับว่าที่ผ่านมามีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้วจริง
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้าง เขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว โดยล่าสุดองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ร่วมกับองค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ลงสำรวจพื้นที่หัวงานเขื่อน ในแขวงไซยะบุรี และพบว่ามีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน โดยคนงานไทยและลาว และได้มีการอพยพชาวบ้านในพื้นที่หัวงานเขื่อน คือบ้านห้วยสุย ออกไปแล้วทั้งหมู่บ้าน พื้นที่รองรับแห่งใหม่ของชาวบ้านอยู่ในแปลงอพยพไม่ไกลจากตัวเมืองไซยะบุรีนัก
ขณะที่ด้านเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วงพร้อมทั้งออกมาตะโกนบอกสังคมเป็น ระยะๆ ว่าได้มีการละเมิดข้อตกลงมาโดยตลอด แต่เสียงของชาวบ้านกลับไม่มีผลใดๆ เลยสำหรับการก่อสร้างและรัฐบาลลาว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องใน 23 กรกฎาคมนี้
สำหรับการฟ้องร้องครั้งนี้นั้น กฟผ.ถือว่าเป็นจำเลยแรก ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงาน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ปล่อยให้ กฟผ.ทำสัญญาสำคัญซื้อขายไฟฟ้า โดยไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตนในการ แจ้งข้อมูล และปรึกษาหารือกับสาธารณะ ที่สำคัญคือไม่ประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้องครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีนี้ถือว่าริเริ่มและดำเนินการโดยหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนได้ทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการ ยุติหรือทบทวนโครงการตลอดมา เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการในการดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด หนังสือพิมพ์ลาวคือเวียงจันทน์ไทมส์ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม รายงานข่าวว่าทางการลาวได้พาผู้แทนประเทศต่างๆ ลงพื้นที่ไซยะบุรี ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม เพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีการก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ซึ่งยอมรับว่ามีการอพยพชาวบ้านแล้ว แต่ก็ไม่กระทบต่อแม่น้ำโขง
แม้ท่าทีของทางการลาวดูอ่อนลงไปมาก ทั้งๆ ที่ตอนแรกออกมาปฏิเสธเสียงเข้มที่จะชะลอโครงการ เนื่องจากโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญตามนโยบายแปลง ประเทศให้เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย แต่เมื่อถูกคัดค้านอย่างหนักจากมิตรประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นและมีอิทธิพลสูงต่อลาว ในที่สุดรัฐบาลลาวต้องยอมแสดงบทถอย ซึ่งไม่รู้ว่าถอยจริงหรือสับขาหลอก เพราะผลประโยชน์ที่รับไปจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เองก็ไม่น้อย หากยอมพับโครงการกันง่ายๆ ย่อมมีความเสียหายเกิดขึ้นแน่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องชั่งน้ำหนักระหว่างวิถีชีวิตของ ชุมชนและสิ่งแวดล้อม กับผลประโยชน์จากเขื่อนซึ่งก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน
ที่น่าสนใจคือหากรัฐบาลลาวยอมถอยโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่ง แรกนี้แล้ว ในโครงการสร้างเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำสายนี้อีก 11 โครงการจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้นักลงทุนทั้งจีน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ต่างจับจองพื้นที่เพื่อเตรียมรุมทึ้งแม่น้ำโขงอยู่แล้ว
จับตาดูให้ดีเพราะโครงการบนลำน้ำโขงกลายเป็นจุดหักเลี้ยวที่สำคัญของประเทศลาว