สหรัฐฯ ส่ง RQ-4 "โกลบอลฮอว์ค" ขึ้นล้วงตับจีนในทะเลจีนใต้
สหรัฐฯ กำลังจะส่งยานไร้คนบังคับแบบ RQ-4 "โกลบอลฮอว์ค" (Global Hawk) จำนวน 3 ลำ เข้าประจำการในเกาะกวม เพื่อปฏิบัติการบินสอดแนมความเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งบินสอดแนมในทะเลที่ตั้งเกาะพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วย หนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคในญี่ปุ่นรายงานในวันพฤหัสบดี 9 ส.ค.นี้ ยานไร้คนบังคับหรือ "โดรน" แบบ RQ-4 ผลิตโดยนอร์ธร็อบกรัมแมน (Northrop Grumman) นับเป็นยานทันสมัยที่สุดที่สหรัฐฯ ใช้ประจำการในปัจจุบัน และ เป็นความคืบหน้าล่าสุดประการหนึ่งในความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่เตรียมการกลับคืนสู่ย่านเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง เนื่องจากสมามารถบินในความสูงถึง 18,000 เมตร ยาน RQ-4 มีขีดความสามารถปฏิบัติการระยะไกลและถ่ายภาพความชัดเจนสูง ในเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว RQ-4 ได้ปฏิบัติภารกิจถ่ายภาพความสูญเสียจากวิบัติภัยสึนามิในและอุบัติภัยที่โรง ไฟฟ้าฟุกุชิมาญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ไทเปไทม์สในไต้หวันรายงานข่าวเดียวกันนี้ระบุว่า ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และญี่ปุ่นใช้เครื่องบินสอดแนมแบบ P-3C "โอไรออน" (Orion) ปฏิบัติภารกิจในย่านนี้ โทรทัศน์เอ็นเอชเคและหนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุน ได้รายงานว่าความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น เป็นผลจากการพบเจรจาระหว่างนายซาโตชิ มอริโมโตะ รัฐมนตรีทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น กับนายเลออน พลาเน็ตตา รมว.กลาโหมสหรัฐ ในกรุงวอชิงตันดีซีระหว่างไปเยือนสหรัฐวันที่ 5-8 ส.ค.นี้ ประธานาธิบดีเบนีกโน อะคีโน จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากมีความจำเป็นฟิลิปปินส์จะขอให้สหรัฐฯ ช่วยบินลาดตระเวนน่านน้ำของตน เช่นเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ช่วยญี่ปุ่นกับเกาหลีในปัจจุบัน เกาะกวมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์กำลังจะเป็นศูนย์ปฏิบัติ การใหญ่ของสหรัฐฯ ในแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกันกับเวียดนาม ต่างก็เป็นคู่กรณีโดยตรงกับจีน ที่กล่าวอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลจีนกว่า 1,000 กม.ด้วย รายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้อ้าง เอกสารลับที่ระบุว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแผนการเสริมกำลังฝูงบินเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลแบบ B-52 ตลอดจน B-1B เข้าประจำที่เกาะยุทธศาสตร์สำคัญนี้ รวมทั้งเสริมเรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนียอีกอย่างน้อย 4 ลำเข้าสู่ทะเลย่านนี้ สำนักข่าวกลาโหมอีกหลายแห่งยังอ้างรายงานของแหล่งข่าวในสัปดาห์นี้ ว่า สหรัฐฯ ได้ตัดแปลงเรือดำน้ำเทคโนโลยีล่องหนชั้นเวอร์จิเนียอย่างน้อย 4 ลำ ลดจำนวนตอร์ปิโดลงให้สามารถติดจรวดร่อนโทมาฮอว์คได้มากขึ้น เนื่องจากได้มอบหมายภารกิจใหม่ให้มุ่งโจมตีเป้าหมายบนบกโดยเฉพาะอีกด้วย เรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ เป็นชั้นที่ก้าวหน้ามากที่สุด ตรวจจับได้ยาก จึงสามารถเข้าใกล้ชายฝั่งได้ทุกเมื่อ และจรวดร่อนโทมาฮอว์ครุ่นที่ติดตั้งก็มีระยะยิงไกลถึง 1,600 กม. ครอบคลุมทุกเป้าหมายในแผ่นดินใหญ่จีนจากทะเลจีนใต้ สำนักข่าว Lenta.Ru ของรัสเซียรายงาน.