ລາວໂຮມລາວ ເພື່ອປະຊາທິປະໄຕ

Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: หนี้เน่า-รัฐวิสาหกิจเจ๊ง สัญญาณอันตรายเวียดนาม
Anonymous

Date:
หนี้เน่า-รัฐวิสาหกิจเจ๊ง สัญญาณอันตรายเวียดนาม
Permalink   
 


หนี้เน่า-รัฐวิสาหกิจเจ๊ง สัญญาณอันตรายเวียดนาม

0BB089FD0EA14DDDA3B66CA873ED3C50.jpg

จากที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกลุ่มประเทศอาเซียน จนเคยมีการกล่าวกันว่า “เวียดนามจะแซงหน้าไทย” ทว่าเศรษฐกิจเวียดนามในวันนี้กลับต่างออกไปราวหนังคนละม้วน ซึ่งยังทำให้การรวมกลุ่มเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันภายใต้ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เริ่มมีสัญญาณน่ากังวลไปด้วย

ตลาดหุ้นเวียดนามเข้าสู่ภาวะตลาดหมีไปเรียบร้อยแล้ว หลังดัชนีร่วงลงไป 22% นับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ขณะที่ชาวเวียดนามแห่ถอนเงินสดกันจากธนาคารเอเชีย คอมเมอร์เชียล แบงก์ (เอซีบี) หรือธนาคารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเกือบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะในสัปดาห์ที่แล้วเพียงสัปดาห์เดียว หลังมีข่าวการจับกุมมหาเศรษฐีเวียดนามและนายธนาคารอีก 1 รายของเอบีซี ในหลายข้อหาเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การฉ้อโกง และการปล่อยกู้อย่างผิดกฎหมาย

ในเบื้องต้นนั้น เรื่องนี้อาจเป็นเพียงความผิดส่วนบุคคลที่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และตัดสินกันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทว่า การถอนทุนออกจากตลาดหุ้นมหาศาล และแม้แต่ชาวเวียดนามเองก็ยังแห่กันถอนเงิน จนธนาคารกลางเวียดนามต้องอัดฉีดเงินสดเข้าภาคการธนาคารถึงราว 815 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถือเป็นสัญญาณชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ ความผิดส่วนบุคคล แต่ยังเป็น “ความน่ากังวลของระบบการเงินเวียดนามที่เปราะบาง และยังสะท้อนไปถึงปัญหาในภาคเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย”

ทั้งนี้ เวียดนามซึ่งเคยได้ชื่อว่า ว่าที่เสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย กำลังเผชิญมรสุมรุมเร้าหลายด้านในปีนี้ อาทิ การลงทุนในรอบ 7 เดือนแรกของปีที่ลดลง 33% หลายบริษัทต้องปิดตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังมานี้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ และที่กำลังเป็นปัญหาน่าวิตกที่สุดในขณะนี้ก็คือ “ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (เอ็นพีแอล) ซึ่งกำลังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันระดับหนี้เสียของภาคการธนาคารในเวียดนามถือว่าสูงที่สุดในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน โดยธนาคารกลางเวียดนามได้รายงานตัวเลขเอ็นพีแอลเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า อยู่ที่ระดับ 8.6% ซึ่งลดลงมาแล้วจากในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 10% อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เทเลกราฟได้รายงานอ้างบรรดานักวิเคราะห์หลายฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นที่คาดว่าหนี้เสียของบรรดาธนาคารขนาดเล็กทั่วประเทศอาจพุ่งสูง ถึง 50%

สาเหตุที่อาจช่วยอธิบายได้ถึงปัญหาดังกล่าว อาจเป็นเพราะระบบการบริหารประเทศโดยอิงรัฐวิสาหกิจ (เอสโออี) ที่ไร้ประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนั้น คือ 1.รัฐวิสาหกิจ 2.อุตสาหกรรมและการลงทุน และ 3.เกษตรกรรม

เวียดนามภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๋นสุง มีแนวคิดผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วผ่านทางรูปแบบรัฐ วิสาหกิจ โดยอิงจากตัวอย่างของ “แชโบล” หรือกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

ทว่า การบริหารรัฐวิสาหกิจภายใต้ระบอบสังคมนิยมนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงเรื่องการเมืองที่เข้ามาล้วงลูกบริษัทอย่างแยกไม่ออก และส่งผลให้หลายบริษัทไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน

การล้มละลายของบริษัทต่อเรือ “วินาชิน” เมื่อปี 2553 หลังไม่สามารถชำระหนี้ 400 ล้านปอนด์ (ราว 1.98 หมื่นล้านบาท) คือตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐวิสาหกิจแบบเวียดนามที่เลวร้ายที่สุด มีการจับกุมและจำคุกผู้บริหารถึง 9 คน ในข้อหาบริหารจัดการเงินของรัฐอย่างผิดวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังอยู่ในข่ายเฝ้าระวังไม่แพ้กัน

กลุ่มบริษัทการไฟฟ้าเวียดนาม (อีวีเอ็น) คือรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบหลักด้านการจ่ายไฟในประเทศ ภายใต้พนักงานทั้งหมดราว 1 แสนคน แต่แม้ว่ารัฐบาลจะไม่อนุญาตให้ขึ้นค่าไฟ จนทำให้บริษัทไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งผลให้เวียดนามมีปัญหาขาดแคลนพลังงานเกิดไฟดับอยู่เป็นระยะๆ ทว่าอีวีเอ็นกลับสามารถขยายกิจการไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม การธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์ได้ โดยมีรายงานว่าบริษัทก่อหนี้ไว้ถึง 7,600 ล้านปอนด์ (ราว 3.75 แสนล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดปี 2554

รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สุด 100 แห่งในเวียดนามนั้น มีหนี้รวมกันมหาศาลถึง 3.33 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 1.64 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นผลมาจากการแต่งตั้งผู้บริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ใช้แต่เส้นสายทางการเมืองจนทำให้ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้

ทว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้กลับไม่เดือดร้อนเรื่องเงินกู้ และยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสบายๆ ทั้งจากธนาคารของรัฐและกระทั่งธนาคารเอกชน ซึ่งต่างก็มีบอร์ดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐทั้งสิ้น และแต่ละธนาคารต่างก็ต้องมีการสานสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลเวียดนามด้วย

“พวกรัฐวิสากิจไม่ได้กู้ยืมเพื่อขยายธุรกิจ แต่กู้ยืมเงินมาเพื่อนำไปเก็งกำไร การเข้าถึงเงินเป็นไปอย่างง่ายดาย เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เติบโตไปแข่ง ขันในเวทีระดับโลกได้ ทว่าในภาคธุรกิจหลักนั้น รัฐวิสาหกิจเหล่านี้กลับไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจย่อย ซึ่งนอกจากจะแข่งขันไม่ได้แล้ว ก็ยังถ่วงแขนขาอีกด้วย” เดวิด โก๊ะ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวกับเทเลกราฟ

กรณีล่าสุดที่มหาเศรษฐี เหวียนดึ๊กเดียน ผู้ร่วมก่อตั้งเอซีบี พร้อมด้วยผู้บริหารอีก 1 ราย ไลซวนไห่ ถูกจับกุมนั้น นับเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่ตอกย้ำถึงปัญหาในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของ เวียดนาม ทว่าในขณะเดียวกันก็ยังเริ่มฉายภาพปัญหาบางส่วนของการเมืองเวียดนามออกมาพร้อมๆ กันด้วย

ดึ๊กเคียน ซึ่งโด่งดังจากการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล ฮานอย เอซีบี จนอาจเทียบได้กับเสี่ยหมี โรมัน อับราโมวิช ถือเป็นผู้กว้างขวางในแวดวงธนาคารเวียดนาม มีหุ้นทั้งในธนาคารเวียดแบงก์ ซาคอมแบงก์ และเอ็กซิมแบงก์ และยังมีรายงานว่ามหาเศรษฐีวัย 48 ปีรายนี้ มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายปฏิรูปภาคการธนาคารฉบับใหม่ของเวียดนาม

ที่สำคัญ ยังเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๋นสุง และบุตรสาว เหวียนตันห์เฟือง ซึ่งเป็นนักการธนาคารหญิงชื่อดังในประเทศอีกด้วย

บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่า การจับกุม ดึ๊กเคียน อาจสะท้อนถึงความพยายามแก่งแย่งอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจากฝ่าย ของประธานาธิบดี เจืองเติ๋นซาง ซึ่งช่วงชิงจังหวะในยามที่นโยบายของฝ่ายนายกรัฐมนตรีเริ่มมีปัญหาหลายอย่าง ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2552 ทั้งกรณีของวินาชิน หนี้เน่าที่พุ่งสูง และภาวะเงินเฟ้อที่ทะลุเพดาน

การจับกุมนายธนาคารผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเป็นระบบจนไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะอาเซียนซึ่งกำลังจะเป็นประชาคมเดียวกันทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

หากเวียดนามซึ่งกำลังจะเป็นเลขาธิการอาเซียนรายใหม่ต้องสะดุดขาลงกลางทาง เสียก่อน อาเซียนเองก็คงไม่อาจเดินไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างแข็งแกร่งได้เช่นกัน



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.



Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard