คลินตันเยือนจีนสานรอยร้าวเหลว วิกฤตซีเรีย-ทะเลจีนใต้ไม่คืบหน้า
การเจรจาระหว่างฮิลลารี คลินตันกับเหล่าผู้นำจีนไม่สามารถสะสางความไม่ลงรอย กรณี วิกฤตซีเรีย รวมทั้งปัญหาการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะประเด็นหลังที่สื่อแดนมังกรโจมตีว่า อเมริกากำลังเพาะเมล็ดพันธุ์ความขัดแย้งเพื่อฉกฉวยความได้เปรียบจากกรณี พิพาทระหว่างจีนกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เดินทางถึงจีนเมื่อคืนวันอังคาร (4) และเริ่มหารือกับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และหยาง เจียฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในวันพุธ (5)นั้น ต้องการให้จีนหยุดให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย รวมทั้งขอให้จีนยืดหยุ่นมากขึ้นกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ทว่า การแสดงความคิดเห็นของคลินตันและหยางสะท้อนว่า ทั้งสองมหาอำนาจยังคงแตกแยกกันอย่างรุนแรงในเรื่องต่างๆ แม้ต่างฝ่ายยืนยันว่า ถึงคิดต่างแต่พร้อมร่วมมือกันก็ตาม ที่ผ่านมา สหรัฐฯและอีกหลายประเทศไม่พอใจที่จีนและรัสเซีย ใช้สิทธิยับยั้ง (veto)ในคณะมนตรีความ มั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อยับยั้งมติที่อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรระบอบอัสซาดมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่ปักกิ่งยืนกรานว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียต้องสะสางผ่านการเจรจา ไม่ใช่จากแรงกดดันของภายนอก ในการแถลงข่าวร่วมกับคลินตัน หยางกล่าวว่า “ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์จะตัดสินว่า จุดยืนของจีนต่อกรณีซีเรียเป็นการส่งเสริมวิธีจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสม สิ่งที่เราคำนึงถึงคือผลประโยชน์ของชาวซีเรีย สันติภาพ เสถียรภาพ และพัฒนาการในภูมิภาคดังกล่าวและทั่วโลก” ความคิดเห็นดังกล่าวของหยางเป็นการโจมตีคลินตันโดยตรง เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยวิจารณ์ว่า การใช้สิทธิวีโต้ทำให้จีนและรัสเซีย “อยู่ในด้านที่ผิดเพี้ยนของประวัติศาสตร์” คลินตันตอบโต้แข็งกร้าวว่า ผิดหวังกับการดำเนินการของจีนและรัสเซียในคณะมนตรีฯและว่าขณะนี้ความรุนแรง ได้แผ่ขยายจากซีเรียไปยังจอร์แดนและตุรกีแล้ว และคณะมนตรีฯ จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อยุติการนองเลือดในซีเรีย อย่างไรก็ดี ระหว่างหารือกับหู จิ่นเทา นางคลินตันกล่าวว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสหรัฐฯและจีนดูจะมีความแน่นแฟ้น “เราสามารถสำรวจบริบทที่มีความเห็นพ้องกันและมีความเห็นขัดแย้งในแนว ทางที่เปิดเผยอย่างยิ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นการสะท้อนสัมพันธภาพที่สุกงอม และโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคต” ทั้งนี้ ก่อนเดินทางสู่กรุงปักกิ่ง คลินตันได้แวะเยือนจาการ์ตา นครหลวงของอินโดนีเซียซึ่งหัวข้อเจรจามุ่งที่ข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีน ใต้ และบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งอาเซียนนั้นมีความเห็นแตกแยกในประเด็นนี้ จนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมในการประชุมเมื่อไม่นานมานี้ได้ ขณะเดียวกัน ก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง กระทรวงต่างประเทศของจีนได้แสดงความหวังว่า สหรัฐฯ จะคงความเป็นกลางตามที่ประกาศไว้ “เราหวังว่าสหรัฐฯ จะยึดถือคำมั่น และพยายามเพื่อช่วยส่งเสริม แทนที่จะทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้” หง เล่ย โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงต่อผู้สื่อข่าว คลินตันนั้นต้องการให้จีนเลิกการยืนกรานเจรจาแก้ไขข้อพิพาทเป็นราย ประเทศ แต่หันมาใช้กลไกพหุภาคีที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ ของอาเซียนมีน้ำหนักในการต่อรองมากขึ้นแทน และต้องการให้กำหนดระเบียบปฏิบัติทางทะเลในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เดือนพฤศจิกายนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะร่วมหารือด้วย ทว่า หยางย้ำว่า จีนพร้อมหารือในระดับทวิภาคีเท่านั้น และไม่กำหนดตายตัวว่า จะต้องบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่จีนต้องการจะหารือกับสมาชิกอาเซียนจนกว่าจะตกลงกันได้ กรณีความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในดินแดนทางทะเลจีนใต้ เรียกเสียงวิจารณ์ดุเดือดจากสื่อแดนมังกรตั้งแต่ก่อนที่คลินตันจะเดินทางถึง ปักกิ่ง โดยเฉพาะบทบรรณาธิการของ “พีเพิล เดลี่” ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ระบุว่า “การกระทำของสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับเกาะเตียวหยู (หรือเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น) และปัญหาในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่า รัฐบาลอเมริกันกำลังพยายามบ่มเพาะความขัดแย้งในภูมิภาคเพื่อฉกฉวยความได้ เปรียบ และในระยะยาว การปรับกลยุทธ์ในเอเชีย-แปซิฟิกในรูปแบบนี้ของสหรัฐฯ จะไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ แต่จะกลับกลายเป็นโทษเสียด้วยซ้ำ” อนึ่ง ระหว่างการเยือนเป็นเวลา 2 วัน คลินตันยังมีกำหนดพบกับรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ของแดนมังกร
http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000109572
จีนฮึ่มญี่ปุ่นซ้ือเกาะพิพาท เตือนมะกันอย่าฉวยโอกาส
จีนจับตาใกล้ชิดกรณีญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงซ้ือหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ ประกาศพร้อมป้องดินแดนและเตือนสหรัฐฯอย่าจุ้น...โฆษกกระทรวง ต่างประเทศจีนแถลงเมื่อ 5 ก.ย.ว่า จีนเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด และจะใช้มาตรการที่จำเป็นปกป้องบูรณภาพด้านดินแดนของตน หลังสื่อฯ ญี่ปุ่นเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงซ้ือหมู่เกาะเจ้าปัญหาในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเรียก “เซนกากุ” และจีนเรียก “เตียวหยู” ที่ทั้งสองชาติรวมทั้งไต้หวันแย่งกันครอบครอง จากครอบครัวชาวญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของ ในราคา 2,005 ล้านเยนด้านนาง ฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะเจรจากับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในกรุงปักกิ่ง เพื่อหวังบีบให้จีนแก้ไขกรณีพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ กับเหล่าชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เล็กกว่า โดยคลินตันย้ำว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง แต่รองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนยกเลิกการพบปะเจรจากับคลินตันและผู้นำสิงคโปร์ในวันเดียวกัน ส่วนนสพ.พีเพิล’ส์ เดลี่ ของทางการจีนเตือนสหรัฐฯ อย่าสร้างปัญหาและฉวยโอกาสจากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับชาติเพื่อน บ้านอนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงทำสัญญาซื้อ ขายเกาะใหญ่ 3 แห่งกับเจ้าของเดิมชาวญี่ปุ่นรวมเกาะอูออตชึริจิมา เกาะที่ใหญ่สุดกลางทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พิพาทเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ด้วยเงินจำนวน 2,005 ล้านเยน หรือราว 806 ล้านบาท ขณะที่นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ แห่งญี่ปุ่น ก็จะยืนยันความเป็น เจ้าของหมู่เกาะทั้งหมดและจัดสรรกองทุนแหล่งทรัพยากรให้กับประชาชนที่ร่วมใจ กันบริจาครวมถึงจะแจ้งอย่างเป็นทางการกับจีนช่วงระหว่าง การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติช่วงสิ้นเดือน ก.ย.นี้.