นายหยาง จีฉี รมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวประณามรัฐบาลญี่ปุ่นในที่ประชุมยูเอ็น ว่าเป็นผู้
"ขโมย" หมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติ
วันนี้ ( 28 ก.ย. ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า สุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นของ นายหยาง จีฉี รมว.กระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี สร้างความโกรธเคืองอย่างรุนแรงให้แก่คณะเจ้าหน้าที่การทูตของญี่ปุ่น เมื่อนายหยางกล่าวหาว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ “ลักขโมย” หมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติ
นายหยางกล่าวเรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นหยุดทุกการกระทำ ที่แสดงถึงการรุกล้ำน่านน้ำอธิปไตยของจีน นอกจากนี้ รัฐบาลโตเกียวควรทบทวนความผิดพลาดของตนเองโดยด่วน เพื่อนำไปสู่หันหน้าเข้าหากันด้วยวิธีเจรจาอย่างสันติ
ทั้งนี้ นายหยางยังได้ยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี 2438 ระบุว่าญี่ปุ่นใช้อุบายลวงให้จีนยอมลงนามในสนธิสัญญายกหมู่เกาะเตียวหยู หรือเซนกากกุในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดอย่างยิ่ง และเป็นความจริงที่ญี่ปุ่นต้องยอมรับ และไม่อาจแก้ไขได้ว่า แท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นได้ใช้เล่ห์กล “ลักขโมย” หมู่เกาะแห่งนี้มาจากจีน ขณะที่ทางการญี่ปุ่นยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด พร้อมกับย้ำว่า หมู่เกาะดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่นอยู่แล้ว
เมื่อวันอังคารที่ 25 ก.ย. นางหยางร่วมการพบปะหารือระดับทวิภาคกับนายโคอิชิโระ เก็มบะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียด โดยมีประเด็นหลักคือการหาทางออกกรณีการถือกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพิพาท ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆได้
สุนทรพจน์ของนายหยางก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงทันที ระหว่างตัวแทนคณะเจ้าหน้าที่การทูตของทั้งสองประเทศคู่กรณี โดยนายคาซูโอะ โคดามะ ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำยูเอ็น กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของจีนปราศจากหลักฐานโดยชอบธรรม และไม่สามารถนำมาอ้างได้ ขณะที่นายหลี่ เป่าตง เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวโต้ตอบว่า ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ และไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนในอดีตโดยสิ้นเชิง.