ผู้นำยุโรปหวังผลประชุมสุดยอด'อาเซม' ดึงเอเชียช่วยฟื้นศก.-สู้วิกฤตหนี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรป ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติของอิตาลี และเฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) เป็นหัวหอกสำคัญในการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้น 2 วันเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ในคราวนี้ ด้วยความพยายามที่จะกระตุ้นการค้ากับเอเชียที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ออลลองด์กล่าวว่า เป้าหมายหลักของทัวร์เอเชียครั้งแรกนับจากรับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมของเขา คราวนี้ คือ การถ่ายทอดข้อความอันสำคัญที่ว่า ยุโรปยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และขณะเดียวกัน เอเชียก็มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทั้งของยุโรปและของทั่วโลก “เอเชียได้ประโยชน์อย่างมากจากการเติบโตของเรา และขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะใช้ดีมานด์ของตนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเรา” ผู้นำฝรั่งเศสยังใช้โอกาสนี้วิจารณ์ปักกิ่งที่ควบคุมเงินหยวนเคร่งครัด เนื่องจากทำให้พญามังกรได้เปรียบการค้าโดยไม่เป็นธรรม ตลอดเวลาหลายปีมานี้ ฝ่ายตะวันตกประณามพม่าอย่างรุนแรงในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการกักบริเวณอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ตลอดจนคุมขังนักโทษการเมืองอีกมากมาย จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งให้แก่สองภูมิภาค และยังทำให้พม่าถูกจำกัดสิทธิ์ให้ส่งได้แค่เฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศร่วม ประชุมสุดยอดอาเซมซึ่งจัดขึ้น 2 ปีครั้ง แต่หลังจากที่พม่าแสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปที่มีความจริงจัง ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมาก และซูจีก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ฝ่ายตะวันตกก็เริ่มผ่อนคลายการคว่ำบาตรเป็นการตกรางวัล รวมทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้รับเชิญร่วมประชุมซัมมิตที่กรุงเวียงจันทน์คราวนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ฝ่ายตะวันตกกำลังตั้งคำถามขึ้นมาว่า มองแง่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงในพม่ามากไปหรือไม่ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะนองเลือดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะ ไข่ของพม่า วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวที่เวียงจันทน์ในวันจันทร์ เรียกร้องให้พม่าจัดการ “ปัญหาสถานะของชาวโรฮิงยาที่ยังไม่ได้รับการสะสาง” และสำทับว่าจะหยิบยกเรื่องนี้หารือกับผู้นำพม่าถ้ามีโอกาส ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมิถุยายนเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และผู้คนกว่า 100,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงในยะไข่ ทางด้าน มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ขานรับว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กังวลกับความรุนแรงดังกล่าว “แต่การที่เราหารือกันในเวียงจันทน์วันนี้โดยเกือบไม่มีพม่าเป็น ประเด็นหลักในการหารือเหมือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พม่าเดินทางมาไกลเพียงใดบนเส้นทางการผ่องถ่ายสู่ประชาธิปไตย” สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถูกตะวันตกกล่าวหามาตลอดว่า เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรดานายพลที่ปกครอง พม่ามาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ดี การผ่อนเพลาการโจมตีทางการทูตถือเป็นสัญญาณว่า ยุโรปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอันเจิดจรัสของเอเชียมากขึ้น และปรารถนาจะเข้ามาคานอิทธิพลและการมีส่วนร่วมที่เพิ่มมากขึ้นของอเมริกาใน ภูมิภาคนี้ ราจีฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ ชี้ว่า ความที่อียูอยู่ในสภาพหลังชนฝาจากภาวะถดถอยเรื้อรังและมาตรการรัดเข็มขัดทาง การคลัง ผู้นำทางการเมืองและธุรกิจของยุโรปจึงเล็งเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็วให้ เป็นตัวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ บิสวอสยังคาดการณ์ว่า เอเชียจะมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อยุโรปมาก ขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษหน้า นอกจากนี้ผู้นำยุโรปยังอาจพยายามล็อบบี้นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าของจีน ให้นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนจากที่มีอยู่ทั้งสิ้นราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ไปลงทุนในกองทุนฟื้นเสถียรภาพการเงินยุโรป ขณะเดียวกัน ผู้เข้าประชุมบางชาติ เช่น ฟิลิปปินส์ ยังต้องการให้มีการหารือเรื่องข้อพิพาทอธิปไตยทางทะเล ทว่า เรื่องนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกต่อต้านจากจีน