กลายเป็นประเด็นที่ต้องยอมรับกันแล้วว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศที่มาแรงที่สุด และเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากที่สุด ณ วินาทีนี้ย่อมหนีไม่พ้น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่เรียกชื่อย่อกันติดปากว่า ทีพีพี (TransPacific Strategic Economic Partnership Agreement) ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย เตรียมจะเข้าร่วมการเจรจาในโอกาสที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงสุดสัปดาห์นี้
เหตุผลก็เพราะทีพีพีคือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่ได้รับการอุ้มชูสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าจากป๋าดันผู้ทรงอิทธิพลอันดับ หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา
เพราะเชื่อว่าข้อตกลงทีพีพีคือการกรุยทางเปิดประตูสู่เขตการค้าเสรีแนว ใหม่ ที่จะเชื่อมโยงโอบล้อมประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดน่าจะช่วยกระตุ้นการค้าของโลกขึ้นถึง 12%
และเพราะทีพีพีถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐที่จะหวนคืนผูกมิตรภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก และอาจถือเป็นไม้ตายหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้สหรัฐช่วงชิงอิทธิพล และกดดันฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียของจีนลงได้บ้าง
ทั้งนี้ หากพลิกประวัติฟื้นปูมของข้อตกลงทีพีพีนี้ จะเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการเอ่ยถึงสักเท่าไรนัก โดยทีพีพีมีจุดเริ่มต้นจากขอบเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย–แปซิฟิก (เอเปก) ที่เม็กซิโก เมื่อปี 2545 ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่เข้าร่วมคือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และชิลี ก่อนที่บรูไนจะตามมาสมทบเป็นชาติสมาชิกที่ 4 ในปี 2548
กระนั้น ทีพีพีก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญและไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกในกลุ่มเอ เปกสักเท่าไรนัก จนกระทั่งในปี 2551 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐในขณะนั้นประกาศเข้าร่วมการเจรจาอย่างเต็มที่ ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาจะผลักดันข้อตกลงทีพีพีอย่างมุ่งมั่นจริงจัง
ผลจากการประกาศจุดยืนของสหรัฐในครั้งนั้น ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างรับรู้ถึงการมีอยู่ของทีพีพี และตบเท้าขอเข้าร่วมมีเอี่ยวด้วยกันอย่างคึกคัก ไล่เรียงตั้งแต่ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อยู่ในขั้นของการเจรจาเข้าร่วม โดยมีชาติล่าสุดเช่น ประเทศไทย ที่เพิ่งจะประกาศจุดยืนขอร่วมด้วยอย่างสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
หากจะพูดว่า ชื่อของทีพีพีติดหูติดตลาดขึ้นมาได้ก็เพราะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกขอลงมาเกี่ยวดองด้วยก็คงไม่ผิดนัก
ทว่า แม้จะทำให้ทีพีพีได้รับความสนใจและแรงเชียร์ไม่น้อยจากนักลงทุนเกือบค่อนโลก ซึ่งมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงทางการค้าเสรีระดับพหุภาคีที่มีความ สมบูรณ์แบบ และตอบสนองต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
แต่ขณะเดียวกัน ท่าทีกระตือรือร้นของสหรัฐที่มีต่อทีพีพีก็ส่งผลให้นักวิเคราะห์และนักลงทุน อีกส่วนหนึ่งไม่วายตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นผลจากการที่ทีพีพีอาจเป็นไพ่ตายเพียงหนึ่งเดียวที่สหรัฐมีอยู่ใน มือ เพื่อช่วยเศรษฐกิจแดนลุงแซมให้ฟื้นจากความเสียหายจากวิกฤตการเงินและสภาวะ เศรษฐกิจซบเซาอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้
เรียกได้ว่า สหรัฐอยู่ในสภาพที่มีแต่ฝุ่นซุกอยู่ในพรมเต็มไปหมด และไม่อาจอยู่นิ่งเฉยโดยไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างได้ ซึ่งแน่นอนว่า อะไรสักอย่างที่ว่าก็คือการเดินหน้ากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า การลงทุน และการแข่งขัน โดยหนึ่งในหนทางสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐจะยื่นมือช่วยภาคธุรกิจได้ก็คือผ่านการ เจรจาทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ