จีนฉลาดสุดๆให้ลาวเป็นลูกหนี้-สร้างรางให้รถไฟจีน
โดย อิงตามเอกสารที่ สมสะหวาด เล้งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ชี้นำแผนงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลลาวได้แถลงต่อที่ ประชุมสมัยวิสามัญของสภาแห่งชาติลาวชุดที่ 7 ที่ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมานั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่าทางการจีนจะไม่เป็นหุ้นส่วนในโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงร่วมกับทางการลาวแล้ว
ทั้งนี้โดยถึงแม้ว่าทางการลาวและจีนจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการร่วมทุนในสัดส่วน 30:70 ของการลงทุนในมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในลาวเชื่อมต่อกับจีนตั้งแต่ปี 2010 เป็น ต้นมาแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากว่าภายหลังจากที่ทางการฝ่ายจีนได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และ ออกแบบก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์นับเป็นเวลากว่า 1 ปี มาแล้วนั้น กลับปรากฏว่าทางการจีนยังสรรหาบริษัทจีนที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการได้เลยจน ถึง ปัจจุบันนี้ จึงทำให้ทางการจีนถือเป็นเหตุผลที่จะไม่ขอเป็นหุ้นส่วนร่วมกับทางการลาวตาม ที่ได้ตกลงกันไว้ใน MOU ดังกล่าวอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเห็นแก่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างรอบด้านระหว่างลาว-จีนที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ตกลงร่วมกันนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาจนถึงเวลานี้ ก็ทำให้ทางการจีนได้เสนอทางเลือกให้กับทางการลาวอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ถ้า หากรัฐบาลลาวต้องการที่จะลงทุนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวนี้ ต่อไป ก็มีทางเลือกอยู่ทางหนึ่ง ซึ่งก็คือการกู้ยืมเงินทุนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนที่สามารถ ตอบสนองเงินกู้ให้กับทางการลาวได้ทั้ง 100% เต็ม”
แต่ ว่าการกู้ยืมดังกล่าวนี้ ก็มีเงื่อนไขที่รัฐบาลลาวจะต้องปฏิบัติตามอยู่หลายประการด้วยกัน กล่าวคือรัฐบาลลาวจะต้องก่อตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารโครงการและให้มีสถานะเป็น ลูกหนี้ธนาคารจีนโดยตรง ในขณะที่รัฐบาลลาวนั้นก็จะต้องเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ทั้ง 100% ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปีเป็นเวลา 30 ปีโดยมีระยะปลอดการชำระหนี้ในช่วง 10 ปี แรก และพร้อมกันนี้ การค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวก็ยังต้องรวมถึงรายรับและทรัพย์สินทั้งหมดของ โครงการ ตลอดจนการที่รัฐบาลลาวยังจะต้องค้ำประกันการชำระหนี้คืนด้วยรายรับที่รัฐบาล ลาวจะได้รับจากเหมืองแร่ 2 แห่งที่เป็นการลงทุนของจีนในลาวอีกด้วย (ในที่นี้น่าจะหมายถึงเหมืองทองคำและทองแดงที่เซโปนในแขวงสะหวันนะเขต กับเหมืองแร่บ็อกไซต์ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียที่แขวงจำปาสัก)
จน ถึงขณะนี้ แม้ว่าจะยังคงไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลลาวว่าจะยอมรับตามเงื่อนไขดังกล่าว ของจีนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลลาวนั้นจะยอมตามเงื่อนไขของจีน เพราะสภา แห่งชาติลาวได้ลงมติรับรองโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในลาวเพื่อ เชื่อมต่อกับจีนอย่างเป็นทางการแล้วในการประชุมสมัยวิสามัญของสภาแห่งชาติ ลาว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา และในขณะเดียว กันทางการลาวเอง ก็เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าให้กับลาวในระยะยาวอีก ด้วย ดังที่ สมสะหวาด ได้แถลงยืนยันว่า
“โครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อลาว-จีน นี่เป็นเส้นทางที่มีความหมายประวัติศาสตร์ อันจะนำเอาผลประโยชน์มาสู่ประเทศเฮาอย่างมหาศาล พร้อมกันนั้น กะยังเป็นการเฮ็ดให้ประเทศลาวเป็นใจกลางเชื่อมต่อกับบรรดาประเทศในอนุภาค พื้นให้ปรากฏเป็นจริง และด้านหนึ่งอีก กะเป็นการยกสูงบทบาทอิทธิพลของประเทศเฮา เพราะว่าประเทศเฮาจะเป็นประเทศตำอิดอยู่ในเอเชียอาคเนย์ที่มีรถไฟความไวสูง ตามมาตรฐานสากล”
ซึ่งถ้าหากเป็นจริงอย่างที่ สมสะหวาด ได้แสดงความเชื่อมั่นดังกล่าวข้างต้น ก็ทำให้มีข้อสงสัยว่าแล้วทำไม? ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างรอบด้านร่วมกับลาวอย่างจีนนั้น จึงไม่เดินหน้าต่อไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ใน MOU แต่กลับหันมาเลือกเดินในเส้นทางของการเป็น ”เจ้าหนี้” ที่มีหลักประกันอย่างพร้อมสรรพเช่นนี้
ครั้น เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปถึงเบื้องหลังของการที่ทำให้ทางการจีนต้องเสนอทาง เลือกดังกล่าวนี้ให้กับทางการลาว ก็พบว่าสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ทางการจีนไม่ขอร่วมลงทุนกับทางการลาวนั้น เพราะว่าผลที่ได้จากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่เป็นไปตามความต้อง การของทางการลาวนั้นมิได้สร้างผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและรวดเร็วให้กับฝ่าย จีนนั่นเอง
กล่าวคือฝ่ายจีนนั้นได้มองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการครอบครอง-บริหารและจัดการที่ดินตลอดสองฝั่งของทางรถไฟที่มีระยะทางยาวเกือบ 420 กิโลเมตร ซึ่งทางการจีนคาดหวังว่าจะมีเนื้อที่รวมกันถึง 840 ตารางกิโลเมตรนั้นนับเป็นเวลาถึง 90 ปี ติดต่อกัน ทั้งยังสามารถที่จะต่อสัญญาได้อีกต่างหาก แต่ครั้นเมื่อพิจารณาจากโครงการที่เป็นไปตามความต้องการของทางการลาวแล้ว เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะทางการลาวจะจัดสรรที่ดินเพื่อรองรับ โครงการคิดเป็นเนื้อที่รวมเพียง 3,058 เฮกตาร์หรือประมาณ 30.5 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น จึงมิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดที่จีนต้องแสดงท่าทีเช่นว่านี้
โดยตามการศึกษาล่าสุดนี้ ทางรถไฟเฉพาะที่อยู่ในเขตลาวจะมีระยะทางยาวทั้งสิ้น 417.68 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนการก่อสร้างและออกแบบโดยฝ่ายจีนที่เชื่อมต่อทางรถไฟจากจีนอยู่ที่ ด่านชายแดนบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทาทางภาคเหนือของลาวนั้นจะมีการก่อสร้าง สถานีขนาดใหญ่ 7 แห่ง ก็คือที่ด่านบ่อเต็น อุดมไซ หลวงพระบาง วังเวียง โพนโฮงและ 2 สถานีใหญ่ในนครเวียงจันทน์ ส่วนนอกนั้นก็จะเป็นสถานีย่อยอีก 24 แห่ง
ทั้งนี้โดยสถานีขนาดใหญ่แต่ละแห่งนั้นจะมีพื้นที่กว้าง 3,000 เมตร X 250 เมตร ส่วนสถานีย่อยนั้นจะมีพื้นที่กว้าง 2,000 เมตร X 100 เมตร ในขณะที่พื้นที่ 2 ฝั่งตลอดเส้นทางรถไฟก็จะมีพื้นที่ฝั่งละไม่เกิน 50 เมตรเท่านั้น ทั้งก็ยังจะไม่อนุญาตให้มีสิ่งปลูกสร้างในตลอดเส้นทางอีกด้วย
ครั้นเมื่อประกอบกับพื้นที่ที่จะก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในลาวที่จะเป็นรางขนาดมาตรฐานสากลคือขนาดกว้าง 1.435 เมตรนั้น ส่วนใหญ่แล้วต่างก็เป็นพื้นที่เขตภูเขาและแม่น้ำลำห้วย ซึ่งทำให้ต้องมีการเจาะอุโมงก์ถึง 76 แห่งโดยคิดเป็นระยะทางรวมกันยาวกว่า 195 กิโลเมตร ทั้งก็ยังจะต้องมีการก่อ สร้างสะพานอีก 154 แห่ง (สะพานข้ามแม่น้ำโขง 2 แห่ง) โดยคิดเป็นระยะทางยาวรวมกันเกือบถึง 70 กิโลเมตรด้วยนั้น จึงทำให้ต้องมีการใช้เงินลงทุนมากกว่าปกติอีกต่างหาก
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากทุนก้อนโตที่มีมูลค่าถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะต้องทุ่มให้กับการก่อสร้างทางรถไฟตามความต้องการของทางการลาวดังกล่าวนี้ ก็ปรากฏว่าจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานถึง 38 ปี จึงจะเริ่มเห็นผลกำไรจากการลงทุนที่รัฐบาลลาวก็จะอนุญาตให้สัมปทานเพียง 50 ปีเท่านั้นด้วยแล้ว จึงเป็นที่มาของทางเลือกที่ทางการจีนเสนอต่อทางการลาวดังกล่าว
เพราะ ฉะนั้น ถ้าหากว่ารัฐบาลลาวยินยอมพร้อมใจที่จะเดินตามทางเลือกเช่นว่านี้ ก็ย่อมที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับจีนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ต้องลงทุนเองแล้วยังสามารถเปลี่ยนสถานภาพของลาวจากหุ้นส่วน มาเป็นลูกหนี้ที่ลงทุนสร้างรางให้รถไฟจีนวิ่งฟรีๆอีกด้วยนั่นเอง!!!