เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ
ว่าด้วยการป้องกันบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "อนุสัญญาป้องกันการอุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศอีกฉบับหนึ่งของยูเอ็น
แต่แม้จะลงนามไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ทว่ารัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้ "การบังคับบุคคลสูญหาย" เป็นอาชญากรรม คล้ายๆ ได้เช็คมาใบหนึ่งแต่ยังขึ้นเงินไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับถือกระดาษเปล่า!
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพของ คุณอังคณา นีละไพจิตร จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาที่ ว่านี้ พร้อมปรับปรุงกฎหมายให้ "การบังคับบุคคลสูญหาย" เป็นความผิดทางอาญา กำหนดกลไกการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ สนับสนุนบทบาทของผู้ชำนาญการณ์ด้านนิติเวชที่เป็นอิสระ กำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน การเคารพสิทธิของญาติผู้สูญหาย การดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด
ข้อมูลของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ระบุว่า หลังจากรัฐบาลลงนามในอนุสัญญาฯ ก็ยังได้รับร้องเรียนการอุ้มหายในพื้นที่อีกอย่างน้อย 2 กรณี และแม้รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์จะอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวเหยื่อ อุ้มหาย แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณใดๆ ต่อการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และถึงที่สุดคือ...นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ!
คุณอังคณา เป็นภรรยาของ คุณสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ทนายสมชาย" วันที่ 12 มี.ค.ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 9 ปีการหายตัวไปของเขา ซึ่งเกี่ยวพันกับคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างซับ ซ้อน
ไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจหรือบังเอิญ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีการจัดเวทีเสวนาเรื่องการลักพาตัว สมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาวที่ถูกอุ้มหายกลางเมืองเวียงจันทน์ไม่ต่างอะไรกับทนาย สมชายที่ถูกกระทำกลางกรุงเทพฯ
มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานว่า "สมบัด" ถูกตำรวจจราจรเรียกให้จอดรถที่ป้อมก่อนจะมีชายลึกลับอุ้มหายไปทั้งคนและรถ จี๊ป แต่ทางการลาวก็ยังแถลงว่าไม่รู้ใครเป็นคนทำ คุณอังคณา ไปร่วมเวทีเสวนาด้วย และได้เล่าถึงความเหมือนระหว่างกรณี "สมบัด" กับ "สมชาย" เอาไว้อย่างเจ็บช้ำ ฟังแล้วยิ่งกว่าตลกร้าย
1.ทั้ง "สมบัด" และ "สมชาย" ทำงานเพื่อส่วนรวมเหมือนกัน (คนดีๆ ถูกกระทำ) 2.ถูกทำให้หายตัวไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องเหมือนกัน 3.มีพยานหลักฐานในเบื้องต้น แต่รัฐบาลพยายามปฏิเสธเช่นเดียวกัน 4.ครอบครัวไม่มีโอกาสเข้าถึงความจริงคล้ายๆ กัน
คุณอังคณา ยังภาวนาให้นักพัฒนาอาวุโสชาวลาวได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ไม่ต้องจบเศร้าเหมือนครอบครัวของเธอ...
ย้อนกลับไปที่คดีทนายสมชาย แม้จะผ่านมาเกือบ 9 ปีแล้ว แต่ก็ยังเอาผิดใครไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งเดียวที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง ซ้ำร้ายตำรวจรายนี้ก็หายตัวไปอย่างลึกลับจากเหตุโคลนถล่มที่ จ.พิษณุโลก
มีข่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอเชิญคุณอังคณาไปพบ และอธิบายหลักฐานทางคดีให้ฟังเป็นฉากๆ สรุปว่า "ทนายสมชาย" ถูกอุ้มไปซ้อมทรมาน สังหาร และทำลายศพ มีเบาะแสชี้ชัดถึงสถานที่เกิดเหตุและพฤติการณ์ของ "ทีมอุ้ม" พอสมควร แต่ติดที่ไม่มีศพ จึงดำเนินคดีไม่ได้
ต้นเหตุของการอุ้มทนายสมชาย เชื่อว่าเป็นเพราะเขารับว่าความให้กับผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่ร้องเรียนว่า ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ผู้ต้องหาชุดนี้บางส่วนอัยการสั่งไม่ฟ้อง บางส่วนศาลยกฟ้อง จึงได้กลายเป็น "พยาน" ของดีเอสไอในคดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมาน
ต่อมา ป.ป.ช.สรุปว่าข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมานไม่มีมูล เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาจึงดาหน้าฟ้องกลับพยานเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและชาวบ้าน พยานบางรายถูกอุ้มหายที่ จ.นราธิวาส ภรรยาของพยานถูกยิง...
ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ตรงไหน การตายและหายตัวไปของพยานกับครอบครัวเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ แต่วันนี้ผู้ที่เคยถูกกล่าวหาบางรายมีอำนาจวาสนาไปนั่งในทำเนียบรัฐบาล และไปร่วมวงแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย
ไม่รู้ "ลาว" กับ "ไทย" ใครมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่ากัน!