ລາວໂຮມລາວ ເພື່ອປະຊາທິປະໄຕ

Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: 'เสียง'เรียกร้องจากลาวสู่ไทยไปอินโดฯ
Anonymous

Date:
'เสียง'เรียกร้องจากลาวสู่ไทยไปอินโดฯ
Permalink   
 


'เสียง'เรียกร้องจากลาวสู่ไทยไปอินโดฯ

haabdef7b6baj6bfbehcf.jpg

ที่นี่บัวแก้ว : เสียงเรียกร้องสิทธิฯ อันแผ่วเบาในอาเซียนจากลาว สู่ไทย ไปอินโดนีเซีย

                           ท่ามกลางความหวังที่จะต้องการเห็นถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎหมายภายใน ประเทศ รองรับกับการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติ ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามเป็นรัฐภาคีและให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จนเป็นที่จับตามองว่า ในประเทศอาเซียน ไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศรัฐภาคี นอกจากนี้ยังมีลาวและอินโดนีเซีย แต่จนถึงขณะนี้ เวลาผ่านพ้นไปปีกว่า ก็ยังไม่เห็นถึงความคืบหน้าตามที่รัฐบาลไทยตั้งใจจะพยายามยกระดับมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนคนในประเทศให้สูงยิ่งขึ้น

                           สิ่งนี้ ทำให้คิดล่วงไปถึงความร่วมมือในเสาสังคม วัฒนธรรมอาเซียน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศรับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่มุ่งหวังจะปกป้องสิทธิคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชนในอาเซียนกว่า 600 ชีวิต ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร

                           สำหรับประเทศไทย นับเป็นประเทศในอาเซียนในอันดับต้นๆ ที่เปิดเสรีภาพในการแสดงออกให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ตามรัฐธรรมนูญและตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน โดยต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สิ่งนี้ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ที่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่นักรณรงค์ในประเทศอาเซียนได้มาร่วมกันจัด กิจกรรมในประเทศไทย นำไปสู่การพัฒนาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น

                           แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังเกิดเหตุการณ์คนสูญหายในประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักเคลื่อนไหว ภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านระดับท้องถิ่น ที่เหมือนเข้าไปท้าทายอำนาจรัฐ อย่างล่าสุดกรณีนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2548 นักพัฒนาอาวุโสชาวลาวผู้เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มภาคประชาสังคมไทย และได้รับความเคารพอย่างกว้างขวางทั้งในลาว และจากนานาประเทศ หายตัวไป เหตุเกิดขึ้นใจกลางกรุงเวียงจันทน์ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐของลาว โดยมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ได้ แต่เกือบ 1 เดือนแล้ว ก็ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากทางการ สปป.ลาวเกี่ยวกับการสืบสวนและติดตามตัวนายสมบัด สมพอน

                           เช่นเดียวกันกับการหายตัวไปกว่า 8 ปี ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือประชาชนโดยการรับทำคดีด้านสิทธิมนุษยชนที่ทนายส่วนมาก มักจะปฏิเสธ เช่น คดีที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ คดีคนพม่าลี้ภัยการเมือง คดีชาวอิหร่านที่ถูกจับในข้อหาเป็นผู้วางระเบิดสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อที่ว่า บุคคลใดที่ช่วยเหลือร่วมพิทักษ์รักษาสิทธิประชาชน จะถูกมองว่า ท้าทายอำนาจรัฐ จะได้รับภัยมืดที่มองไม่เห็น และสุดท้ายก็จะมีชะตากรรมเดียวกัน

                           นี่ยังไม่รวมถึงความชัดเจนที่รัฐบาลไทยยังไม่เคยออกมาอธิบายอย่างเป็นขั้น เป็นตอนในช่วงที่ผ่านมา ที่จะเป็นการแสดงความจริงใจต่อการให้ความช่วยเหลือ “นายวีระ สมความคิด” และ “น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์” สองนักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีในกัมพูชา แม้ว่า น.ส.ราตรีกำลังจะได้รับอิสรภาพในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้แล้วก็ตาม

                           การละเมิดสิทธิฯ ของประชาชน นักเคลื่อนไหวและผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมในอาเซียน ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นถูกลอบสังหาร เพราะไปขัดผลประโยชน์อย่างร้ายแรงก็เคยมีมา อย่างนายมูนีร์ ไซอิด ทาลิป ทนายความชาวอินโดนีเซียที่ทำงานและต่อสู้คดีเพื่อชาวบ้านที่ยากไร้ ถูกวางยาในอาหารบนสายการบินการูดา ในระหว่างเดินทางไปรับทุนเรียนต่อประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ นอกจากควบคุมตัวนักบินที่ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนรู้เห็น แต่ยากจะหาความคืบหน้าของคดีได้

                           เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้เห็นถึงแนวทางรัฐบาลที่ดำเนินการต่อญาติผู้เสียหาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศใดในอาเซียน ก็จะมีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน นั่นคือ ในระยะแรกๆ จะแสดงความเห็นใจและรับปากติดตามสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป แม้จะมีการให้เงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ถูกต้อง เนื่องจากญาติมีความเป็นห่วงชะตากรรมของผู้สูญหายมากกว่า และเงินเยียวยาก็ทดแทนกันไม่ได้ กลับเหมือนเป็นเครื่องมือจากรัฐ ปิดปากไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นได้ส่งเสียงเรียกร้องใดๆ แล้วเมื่อญาติผู้เสียหาย รวมไปถึงนักสิทธิฯ ได้เคลื่อนไหวทวงถามข้อเท็จจริงในเหตุการณ์และความคืบหน้าของคดี ทางรัฐบาลก็ใช้วิธีนิ่งเฉยและปัดความผิดชอบร่วมที่จะอธิบายข้อเท็จจริงไปได้ ทุกครั้ง

                           วันนี้คงถึงเวลาที่ประชาชนในอาเซียนจะตระหนักและรับรู้สิทธิฯ ของตนเองที่ควรได้รับการปฏิบัติ ตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เน้นย้ำในเรื่องสิทธิคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียน โดยที่ทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันคิดสร้างความสมดุลของการพัฒนาสิทธิฯ ในประเทศ และอาเซียน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วประชาชนก็เป็นฐานกำลังสำคัญต่อการพัฒนาให้เกิดความเจริญใน ภูมิภาค



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.



Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard