สมบัด สมพอน ถูกอุ้มหาย...ประเด็นท้าทายคุณค่าประชาคมอาเซียน
การลักพาตัว นายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซด้านการบริการสังคม เมื่อปี 2548 กลายเป็นประเด็นที่นักพัฒนาสังคม นักสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และสื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันพุธที่ 9 ม.ค.2556 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "กรณี สมบัด สมพอน ถูกลักพาตัว ส่งสัญญาณอะไรกับประชาคมอาเซียน?" ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวันที่ 25 ที่นายสมบัดหายตัวไปอย่างลึกลับกลางกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ในช่วงต้นของการเสวนาได้มีการนำภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่บันทึกไว้ได้ขณะ นายสมบัด ถูกคนกลุ่มหนึ่งลักพาตัว มาเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับชม ซึ่งจากภาพที่บันทึกได้ชี้ให้เห็นว่านายสมบัดถูกลักพาตัวหลังจากถูกตำรวจ จราจรนายหนึ่งเรียกให้จอดรถริมถนนท่าเดื่อในนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาล สปป.ลาว ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องในเหตุการณ์
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เรื่องของนายสมบัดไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล เพราะผลงานและการทำงานของนายสมบัดตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมากระทั่งได้รับรางวัลแมกไซไซเป็นดั่งสัญลักษณ์ในเวทีอาเซียน แม้แต่คณะกรรมาธิการการมีส่วนรวมของประชาชน วุฒิสภา ซึ่งเขาเคยร่วมเป็นกรรมาธิการ และได้ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งของจีนในลุ่ม น้ำโขง ก็ได้ร่วมงานและพูดคุยกับนายสมบัดอย่างใกล้ชิด
"กรณีที่เกิดกับอ้ายสมบัติ ถือเป็นประเด็นท้าทายหลักการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ เพราะอ้ายสมบัติทำงานเพื่อสร้างความรัก ความเอื้ออาทร และความเป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าการเมืองของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันอย่างไร จะต้องไม่อ้างเสรีภาพเพื่อให้กลุ่มเสรีนิยมใหม่ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนคนเป็นแรงงาน และเปลี่ยนธรรมชาติเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ การทำงานของอ้ายสมบัดถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่อาเซียนต้องรักษาไว้" นพ.นิรันดร์ กล่าว
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า อยากให้การเสวนาครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจในภูมิภาคว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่รักษาแนวทางการพัฒนาที่เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชน
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกฝ่ายพูดถึงประชาคมอาเซียนในบริบทของความคาดหวังต่อความมั่งคั่ง และความมั่งมีศรีสุขทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเกิดกรณีของนายสมบัด จึงเกิดคำถามว่าท่ามกลางความคาดหวังเหล่านั้น การละเมิดสิทธิก็ยังเกิดขึ้นได้ในอาเซียนใช่หรือไม่ แม้แต่กับบุคคลที่ไม่ได้ชูธงในการต่อต้านรัฐอย่างแข็งกร้าว แต่ทำงานในแง่การให้ความรู้ความเข้าใจกับชุมชน
"ประชาคมอาเซียนไม่ใช่เรื่องการสร้างให้ภูมิภาคนี้เป็นตลาดเดียว แต่มันยังมีชีวิตผู้คนมากมายอยู่ในนั้น การเป็นอาเซียนจึงมีความหมายมากกว่าการขายสินค้าหากอาเซียนไม่ให้คุณค่าใน ชีวิตของกันและกัน จะมีศักดิ์ศรีในการเป็นประชาคมได้อย่างไร ฉะนั้นทุกคนต้องกดดันให้ทั้งประเทศของตนเองและอาเซียนตอบว่าคิดอย่างไรกับ เรื่องนี้"
ศ.สุริชัย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงบทบาทและความรับผิดชอบให้ชัดเจนต่อกรณีการ ลักพาตัวนายสมบัด เพราะไทยเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของลาว ตามนโยบายที่รัฐบาลลาวประกาศให้เป็น "แบตเตอรี่แห่งอาเซียน" จึงถือได้ว่าไทยมีส่วนร่วมในการก่อปัญหาจากการพัฒนาอย่างเร่งรัด เร่งรุดจนเกินสมดุล
ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของนายสมบัดในแง่ของการรณรงค์ให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล และเป็นแกนนำในการจัดประชุมเอเชีย-ยุโรปภาคประชาชน คู่ขนานไปกับการประชุมเอเชีย-ยุโรปที่ลาวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเวทีประชาชนใหญ่ที่สุดและสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญครั้งหนึ่งในลาว น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นายสมบัดถูกลักพาตัว
ทั้งนี้ เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลลาวกำลังเดินหน้า คือเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่ประชาคมโลก มีการแก้กฎหมายกว่า 90 ฉบับเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และเป็นประเทศที่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปสัมปทานพื้นที่ทางการเกษตรถึง 41% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ถือว่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไลบีเรีย
"การที่อ้ายสมบัดถูกลักพาตัว ได้พิสูจน์ว่าสังคมลาวไม่ยอมรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คู่ขนานกับที่รัฐบาล ลาวตัดสินใจ" นายวิฑูรย์ ระบุ
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อ 12 มี.ค.2547 กล่าวว่า น่าเป็นห่วงเรื่องข้อตกลงอาเซียนที่ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นกลไกอาเซียนจะเข้าไปดูแลคุ้มครองชีวิตผู้คนได้อย่างไร แม้จะมีปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนเลย เพราะยังสงวนความเป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศอยู่
ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการเปิดให้ผู้ร่วมรับฟังได้แสดงความคิดเห็น นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า อยากให้ภาคประชาสังคมในอาเซียนร่วมกันแสดงบทบาทในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซจำนวน 52 คนก็ได้ร่วมกันลงชื่อส่งถึงทางการลาวให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนายสมบัด สมพอน แล้ว
นายพาโบล โซลอน (Pablo Solon) อดีตเอกอัครราชทูตโบลีเวียประจำสหประชาชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า พี่ชายของเขาเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหาย ทำให้มารดาตั้งมูลนิธิครอบครัวผู้สูญหายในโบลีเวีย กระทั่งขยายเป็นสหพันธ์ครอบครัวผู้สูญหายในละตินอเมริกา เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่การละเมิดสิทธิ แต่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทุกคนต้องแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการกระทำเช่นที่เกิดกับนายสมบัด สมพอน
"ที่อาร์เจนตินามีคนสูญหายเป็นหมื่น จนผู้หญิงที่เป็นแม่และภรรยาต้องรวมตัวกันผูกผ้าขาวแล้วเดินไปที่จตุรัสทุก วัน แรกๆ ก็ถูกประณามว่าเป็นคนบ้า แต่พวกเธอก็ไม่หยุดยั้ง สุดท้ายก็สามารถสร้างพลังให้สังคมหันมาสนใจและทำให้คดีขึ้นสู่ศาลกระทั่งมี คำพิพากษา ซึ่งผมก็คาดหวังให้อาเซียนเกิดพลังอย่างนี้เช่นเดียวกัน"
ภายหลังการเสวนา ศ.สุริชัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ภาคประชาชนต้องทำงานข้ามพรมแดน แล้วสร้างพลังให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะพลังของภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก สำหรับประเทศไทยคิดว่าเวทีต่อไปที่จะรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ก็คือวาระครบรอบ 9 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย
ສປປລາວ ກໍ່ເຫີດໃຫ້ ປະຊາຄົມອາຊຽ້ນ ເສັຍຫນ່າເສັຍຕາ ຍອ້ນປະເທດໂຕເອງດອ້ຍການພັຖະນາ
ໃນດ້ານສິດທິມະນຸດຊົນ
Anonymous wrote:ສປປລາວ ກໍ່ເຫີດໃຫ້ ປະຊາຄົມອາຊຽ້ນ ເສັຍຫນ່າເສັຍຕາ ຍອ້ນປະເທດໂຕເອງດອ້ຍການພັຖະນາໃນດ້ານສິດທິມະນຸດຊົນ
ຄືບໍ່ເຫັນລັດຖະບານປະເທດໃດມາກ່າວປະນາມລັດຖະບານລາວ, ມີແຕ່ພວກ NGO ແລະພວກໜັງສືພິມເທົ່ານັ້ນ! ລັດຖະບານແຕ່ລະປະເທດກໍມີພາລະກຳແບບດຽວກັນຫັ້ນລະ! ພວກບໍ່ຂຶ້ນກັບລັດຖະບານ ເວົ້າຫຍັງເຮັດຫຍັງ ເຂົາກໍບໍ່ສົນດອກ ປານສຸນັກເຫົ່າຍົນພຸ້ນລະ! ຂະໜາດທະນາຍສົມຊາຍຂອງໄທ ຈົນວ່າຫ້າຫົກປີຍັງບໍ່ເຫັນແມ່ນແຕ່ເງົາ... ບໍ່ເຫັນລັດຖະບານປະເທດໃດກ່າວປະນາມ...