จีนส่ง ฮ. ลำเลียง-โจมตี ให้กองทัพว้าแดง
ทางการพม่ายังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อรายงานของเจนส์ดีเฟนส์ (Jane's) ที่ระบุว่า จีนได้ส่งเฮลิคอปเตอร์โจมตี-ลำเลียงหลายลำถึงมือกองทัพว้า (United Wa State Army- UWSA) หรือ “ว้าแดง” ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ขณะที่รัฐบาลกลางพม่าได้เซ็นความตกลงหยุดยิงหลวมๆ กับพรรคแห่งรัฐว้า (United Wa State Party) ปีกการเมืองของกองทัพชนชาติส่วนน้อยที่พูดภาษาจีนกลุ่มนี้ ปัจจุบัน UWSA เป็นกองกำลังของชนชาติส่วนน้อยใหญ่ที่สุดในดินแดนพม่า ซึ่งบางแหล่งประมาณว่าอาจจะมีกำลังติดอาวุธถึง 30,000-36,000 คน เจนส์ซึ่งเป็นสำนักข่าวกรองด้านกลาโหม และความมั่นคงที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา รายงานในวันที่ 29 เม.ย. ระบุว่า จีนได้ส่ง ฮ. แบบ Mil Mi-17 “ฮิป” (Hip) ซึ่งเป็นอากาศยานลำเลียงปีกหมุนขนาดกลาง ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน TY--9021 ของจีน จำนวน “หลายลำ” ถึงมือกองทัพว้าแล้วในปลายเดือน ก.พ. -ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และแทนที่จะบินตรงจากจีน ฮ.ทั้งหมดบินผ่านดินแดนลาวข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตอิทธิพลของว้า เจนส์รายงานเรื่องนี้อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ทางการพม่าที่ระบุ ว่า จีนส่ง ฮ.ถึงมือว้าจำนวนทั้งหมด 5 ลำ แต่แหล่งข่าวใน UWSA กล่าวว่า ได้รับเพียง 2 ลำเท่านั้น ถ้าหากรายงานทั้งหมดนี้เป็นความจริง จรวด TY-90 จะเป็นเครื่องป้องปรามการโจมตีด้วย Mi-24P “ไฮด์” (Hind) ซึ่งเป็น ฮ.ติดปืน หรือ “กันชิป” ของรัฐบาลพม่าเป็นอย่างดี กองทัพพม่าซื้อทั้ง Mi-17 และ Mi-24P จากรัสเซีย และเคยนำ “กันชิป” ออกปฏิบัติการต่อสู้กับกองทัพเพื่อเอกราชแห่งรัฐกะฉิ่น (Kachin Independence Army) หรือ KIA มาแล้ว จีนผลิต Mil Mi-17 มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 ภายใต้สิทธิบัตรจากรัสเซีย โดยบริษัทเสฉวนหลานเตี่ยนเฮลิคอปเตอร์ ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน กำลังการผลิตปีละประมาณ 80 ลำ มีการผลิตออกมาหลายเวอร์ชัน เพื่อใช้ในกองทัพประชาชน และส่งออกด้วย กองทัพว้าแดงเป็นกองกำลังเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma) ในอดีต ซึ่งเป็น “คอมมิวนิสต์สายจีน” ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 และเมื่อต้องยุบพรรคคอมมิวนิสต์ลงในปี 2532 ได้มีการก่อตั้งพรรคว้า (United Wa State Party) ขึ้นมาแทนที่ บางแหล่งประมาณเอาไว้ว่า UWSA อาจมีกำลังพลรวมกัน 30,000-36,000 คน นับว่ามากที่สุดในบรรดาชนชาติส่วนน้อยทั้งหลาย เกือบทั้งหมดปฏิบัติการอยู่ตามรอยตะเข็บชายแดนที่ติดกับไทย ตั้งแต่รัฐชานลงไปจนถึงรัฐกะเหรี่ยง
หลายปีมานี้ จีนเป็นผู้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่หลายชนิดให้แก่กองทัพฝ่ายรัฐบาล พม่า รวมทั้งเรือฟรีเกตชั้นเจียงหู (Jianghu-Class) จำนวน 2 ลำ เมื่อปี 2551 และยังมีรถถังกับปืนใหญ่ สำหรับกองทัพบก กับเครื่องบินรบ และเครื่องบินฝึกอีกบางรุ่นสำหรับกองทัพอากาศด้วย อย่างไรก็ตาม พม่าไม่ได้พึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนทั้งหมด หากยัง “กระจายความเสี่ยง” ซื้ออาวุธหลักสำคัญต่างๆ จากรัสเซีย อินเดีย รวมทั้งอิสราเอล กับอาวุธของโลกตะวันตกที่ “หลุด” เข้าไปได้ แม้ในยุคที่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินรบแบบ มิก-29 (MiG-29) จากรัสเซีย และรถถัง T-90 จากสาธารณรัฐยูเครน กับจรวดต่อสู้รถถังแบบคาร์ล กุสตาฟ จากสวีเดนด้วย ขณะเดียวกัน จีนก็ยังเป็นผู้สนับสนุนอาวุธให้แก่กองกำลังชนส่วนน้อยในพม่ามานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มว้าแดง ซึ่งสื่อในจีนรายงานก่อนหน้านี้ไม่เพียงแต่อาวุธเบาเท่านั้น ในช่วงปีหลังๆ ทหารว้าแดงยังพกอาวุธทันสมัยจากจีนอีกหลายชนิด รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยานชนิดประทับไหล่ยิงอีกด้วย แต่ ฮ. Mi-17 นับเป็นชิ้นใหญ่ที่สุด ยังไม่มีการออกรับ หรือปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากทางการพม่า เกี่ยวกับข่าวล่าสุดนี้ นอกจากนั้น ก็ยังไม่เคยมีการแถลงท่าทีใดๆ ต่อรายงานของหนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ในฮ่องกงก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า จีนเคยพิจารณาใช้อากาศยานไร้คนบังคับ เข้าโจมตีที่ตั้งของเจ้าหน่อคำที่อยู่ในพม่า นี่คือนักค้ายาเสพติดชาวไทยใหญ่ ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือสินค้าของจีนในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2554 และลาวส่งตัวให้แก่จีนเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เจ้าหน่อคำ กับลูกสมุนจำนวนหนึ่งถูกศาลจีนตัดสินประหารชีวิตเมื่อต้นปีนี้ พม่าที่แบ่งการปกครองออกเป็นหลายรูปแบบในปัจจุบัน ทั้งแบบรัฐ (ของชนชาติส่วนน้อย) เขต (ของชนเชื้อสายพม่าเป็นกลุ่มใหญ่) และเขตพิเศษ ยังไม่ยอมรับฐานะเขตปกครองของกลุ้มว้าแดงเป็นรัฐ แต่ยอมรับว่า มีพรรครัฐว้า หรือ UWSP ดำรงอยู่เท่านั้น.
แหล่งข่าวจากสภาคองเกรสของสหรัฐเผยว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะเป็นผู้นำพม่าคนแรกที่เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในรอบ 50 ปี ในราววันที่ 20 หรือ 21 พฤษภาคมนี้ และจะเข้าพบประธานาธิบดีบารัก โอบามาที่ทำเนียบขาว แต่ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมาในขณะนี้
ขณะเดียวกัน การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อสหรัฐยกเลิกข้อห้ามออกวีซ่าให้อดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ และครอบครัวของคนเหล่านี้ โดยสหรัฐระบุว่าหลังจากปี 2554 พม่าซึ่งมีรัฐบาลพลเรือน ได้ดำเนินการปฏิรูปสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังคงข้อห้ามการออกวีซ่าให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้
นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโอบามายังต่ออายุกฎหมายฉุกเฉินอีก 1 ปี กฎหมายนี้ห้ามธุรกิจและคนอเมริกันลงทุนหรือทำธุรกิจกับคนในพม่าที่มีส่วน ร่วมในการปราบปรามการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
เป้าหมายของสหรัฐในการคงมาตรการคว่ำ บาตรบางอย่างไว้ ขณะที่ผ่อนคลายบางมาตรการนั้น ก็เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า จะไม่หยุดชะงักหรือถอยหลัง