สาระจากการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่ เป็นทางการครั้งที่ 2 หรือ The 2nd Thai - Lao Joint Cabinet Retreat ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และ "ทองสิง ทำมะวง" นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำคณะของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม ผลสรุปในที่ประชุมคือ ความร่วมมือใน 6 สาขา ครอบคลุม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่าย จะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ประกอบด้วย อำนวยความสะดวกในการผ่านแดน โดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องการตรวจปล่อยสินค้า ณ จุดเดียว หรือ Single Stop Inspection (SSI) และปรับปรุงพื้นที่จุดผ่านแดนและเส้นทางคมนาคมที่ต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการงผ่านแดนและความแออัดของการสัญจรบริเวณจุด ผ่านแดนสำคัญ
ในการส่งเสริมการค้าไทย-ลาว ฝ่ายไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างรายได้ของประชาชนลาว และเพื่อประโยชน์ร่วมกันของไทยและลาว การใช้ประโยชน์จากเส้นทางถนนหมายเลข 8 และ 12 ในเป็นเส้นทางเชื่องโยงทางโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนตามแนวเส้นทางทั้งสอง ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค และระหว่างไทย - ลาว - จีน เช่น การสร้างสะพานเชื่อมต่อทางรถไฟ (หนองคาย - ท่านาแล้ง) เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับทางรถไฟความเร็วสูงกับจีน ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North - South Economic Corridor)) การเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว รวม 2 แห่ง
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่19 พฤษภาคม ได้แก่ จุดผ่านแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ โดยในส่วนของฝ่ายลาวจะยกระดับด่านท้องถิ่นบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี เป็นด่านสากลเมื่อการก่อสร้างเส้นทางบ้านผาแก้ว - ปากลายแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2557และจุดผ่านแดนบ้านสบรวก จ.เชียงราย ซึ่งฝ่ายลาวได้เปิดด่านสากลสามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อแก้ว ไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายไทย สนับสนุน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยจะร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไปมาระหว่างไทยและลาว
สำหรับความสำเร็จจากการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาว อย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ ที่นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งก็คือ ความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากประเทศจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มายังประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย มีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อหารือกับ "ทองลุน สีสุลิด" รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสรุปรูปแบบพัฒนาร่วมกัน จากนั้นจะได้นำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย จีน ลาว และไทย และประชุมเพื่อเร่งผลักดันโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ความร่วมมือในการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย และจีน มีความเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ในสมัยที่โสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยในการประชุมคณะกรรมการประสานงานโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการ รถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือในการพัฒนากิจการรถไฟไทย-จีน ที่จะมีการเชิญผู้แทนฝ่ายจีนระดับปฏิบัติและระดับนโยบายมาหารือร่วมกัน เพื่อลงนามความร่วมมือ
อาทิ ขอบเขตการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของฝ่ายจีนให้กับไทย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมบุคลากร การกำหนดอัตราค่าโดยสาร และท่าทีของทางการจีนในขณะนั้นก็คือ ความประสงค์ที่จะขอดำเนินการรถไฟความเร็วสูง ใน 6 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-สุดชายแดนภาคใต้ของไทย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ซึ่ง 5 เส้นทางแรก เป็นไปตามกรอบการเจรจาของไทย
โดยเส้นทางที่เพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ การผลักดันโครงการในขณะนั้น ไทยจะเจรจาให้จีนดำเนินการ 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม. มูลค่าลงทุน 1.8 แสนล้านบาท และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. มูลค่าลงทุนประมาณ 2.47 แสนล้านบาท ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ระยอง จะเปิดเชิญชวนต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันก่อน หากไม่มีประเทศใดสนใจจึงจะเจรจากับจีน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงในรัฐบาลปัจจุบัน เป็นความชัดเจนในการกำหนดเส้นทางที่เชื่อมโยงภูมิภาค ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน, และเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา โดยทั้ง 4 สาย อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา ทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รูปแบบโครงการ การแบ่งสัญญาก่อสร้าง ที่คาดว่าจะเห็นถึงความชัดเจนในขั้นตอนการดำเนินการภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 กระทั่งการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย จึงยกระดับสู่การเชื่อมโยงขนส่งทางรางจากไทย สู่ลาว และจีนตามลำดับ
"อนาคตมีจะมีรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ มายังหนองคาย เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจากจีนที่ผ่านเข้ามายังประเทศลาวที่นคร เวียงจันทน์ ให้ความมั่นใจได้ว่าหนองคายจะมีสถานะของการเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของภาคอีสาน " ชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย ลาว และจีน จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ที่จะมีบทบาทศึกษาแนวเส้นทางและการกำหนดประเภทรถไฟ ในส่วนของการดำเนินการฝ่ายไทย เห็นควรให้ใช้งบประมาณปี 2557 เพื่อศึกษาเส้นทางวงเงิน 200 ล้านบาท เป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ส่วนรถไฟความเร็วสูงในลาวระยะทาง 400 กิโลเมตร ทางลาวจะงกู้เงินจากจีนก่อสร้าง ซึ่งจีนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง ไปยังชายแดนลาวเอง ส่วนระบบรถไฟที่เชื่อมไทยกับลาวขณะนี้เป็นเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง และเตรียมที่จะก่อสร้างจากท่านาแล้งถึงเวียงจันทน์ระยะทาง 9 กิโลเมตร ซึ่งลาวต้องการให้เส้นทางนี้เชื่อมการเดินทางและขนส่งถึงกรุงเทพฯ
"การเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างกันได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเสียโอกาส เพราะปัจจุบันยังมีระบบรถไฟธรรมดาที่เชื่อมต่อจากสถานีหนองคายไปยังสถานีท่า นาแล้งของสปป.ลาว ให้ประชาชนได้ใช้เดินทางข้ามไปมาระหว่างกันได้ อยากให้มองว่านี่คือการเริ่มต้นพัฒนาที่มีการเชื่อมโยงโอกาสเข้าด้วยกัน" จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ความเห็น
นี่จึงเป็นมิติของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางจากภูมิภาคสู่การขนส่งระหว่างประเทศ
ນີ້ເຂົາເອີ້ນວ່າ ເສັ້ນທາງໂກງກິນຊາດ ແລະຈີນກຳລັງຈະກືນກິນ ລາວກັບໄທຍ