ເປີດເສັ້ນທາງ ຄ້າຄົນງານເຖື່ອນ ຊາວລາວ
ภาพผู้เสียชีวิตนับสิบคนที่อัดแน่นอยู่ในรถปิกอัพ ซึ่งประสบอุบัติเหตุพุ่งชนต้นไม้ที่ จ.บุรีรัมย์ ความแรงของรถทำให้ทุกคนถูกอัดก๊อบปี้มากองรวมกันที่ด้านหน้านับเป็นภาพที่ น่าเวทนายิ่ง
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ นำมาสู่คำถามว่า เหตุใดหนุ่มสาวสัญชาติลาวรวมถึงคนท้องรวม 23 คน ไม่นับคนขับ พวกเขานั่งกันมาได้อย่างไรในรถปิกอัพเพียงคันเดียว แต่นี่คือชีวิตที่เลือกไม่ได้ของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนาน "ชาวลาว" เป็นกลุ่มแรงงานที่ในประเทศไทยมีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากค่าแรงถูก และมีวัฒนธรรมการกินอยู่ใกล้เคียงกับคนไทย โรงงานแถบภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีใบสั่งนำเข้าแรงงานเหล่านี้แบบไม่อั้น มีการจ่ายค่าตอบแทนรายหัวให้นายหน้าที่หาแรงงานด้วยเงินจำนวนมาก รวมถึงออกค่านายหน้าให้คนงานก่อน แล้วค่อยหักจากเงินเดือนภายหลัง แรงงานต้องเสียค่านายหน้าประมาณ 3,000-5,000 บาท สำหรับการพาลักลอบเข้าไทย ทั้งเป็นกลุ่ม และแบบกองทัพมด ผ่านทาง จ.อุบลราชธานี บริเวณด่านชายแดนช่องเม็ก อ.สิรินธร หรือผ่านทางจุดผ่อนปรนบ้านตาดแซง อ.นาตาล และผ่านทางจุดผ่อนปรน อ.เขมราฐ มารวมกันที่บ้านพักตามเวลานัดหมาย ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ปลายทางที่กรุงเทพฯ หรือสมุทรปราการ "หลังจากมีการเปิดด่านการค้าในหลายจุดตลอดแนวชายแดน ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายอำนวยความสะดวกในการนำชาวต่างด้าวเข้าสู่ชั้นใน ของประเทศง่ายขึ้น" แหล่งข่าวเปิดเผยข้อมูล การเดินทางของแรงงานเถื่อนจะใช้รถตู้ หรือรถกระบะ บางรายก็ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง โดยนายหน้าชุดนี้จะต้องจ่ายส่วยเคลียร์เส้นทาง ถ้ามีการเรียกตรวจจะส่งสัญญาณว่าเคลียร์แล้ว เช่น ติดสติกเกอร์ หรือตบไฟกะพริบ หลังส่งแรงานให้นายหน้าชุดที่สอง รถคันดังกล่าวจะกลับไปรับแรงงานชุดใหม่ทันที แหล่งข่าวของตำรวจภูธรภาค 3 เปิดเผยถึงกระบวนการขนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 3 มีกลุ่มหลักๆ ที่ทำเป็นกระบวนการขนย้ายแรงงานต่างด้าว 3 กลุ่ม อยู่ในพื้นที่ อ.โพธิ์ไทร อ.เขมราฐ และ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ แต่ละหมู่บ้านจะมีคนที่รับเป็นนายหน้าไม่ต่ำกว่า 7-10 ราย เมื่อได้แรงานต่างด้าวครบตามจำนวนจะนำไปหลบอยู่ตามสวนของชาวบ้านตามจุดต่างๆ ที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศไทย พอตกกลางคืนจะนำรถยนต์เข้าไปรับถึงที่สวน สำหรับรถยนต์ที่ใช้ขนแรงงานต่างด้าวจะใช้รถกระบะ ตั้งแต่กระบะตอนเดียวมีหลังคา หรือคอก เหมือนรถขนผัก แล้วจะใช้ผ้าใบคลุมทับ, รถยนต์แค็บมีหลังคา, รถปิกอัพ 4 ประตู และรถตู้ โดยในการขนย้ายจะขับตามกันครั้งละ 3-7 คัน ทุกครั้งจะมีรถนำและรถปิดท้าย ที่ขับห่างจากรถขนแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 8 กิโลเมตร ทำหน้าที่ตรวจเช็กว่ามีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ส่วนคันที่ขับตามจะบรรทุกสัมภาระของคนงาน มีหน้าที่คอยตรวจสอบว่ามีรถตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐตามมาหรือไม่ หากรถยนต์ที่ขับนำหน้าพบว่ามีการตั้งด่านจะโทรแจ้งไปยังรถยนต์ที่ขับปิดท้าย ให้แซงขึ้นมาเพื่อช่วยคันที่นำอยู่ในการแหกด่านตรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามและเลิกจุดตรวจ แต่หากแหกด่านไม่สำเร็จจะแจ้งไปยังคนขับรถขนแรงงานให้เปลี่ยนเส้นทาง หรือจอดหลบตามสถานที่ต่างๆ เส้นทางที่ขบวนการขนแรงงานต่างด้าวชาวลาวใช้ประจำ คือ เส้นทางสาย 304 อุบลราชธานี-นครราชสีมา เข้าสู่กรุงเทพฯ และสาย 226 จากอุบลราชธานี-บุรีรัมย์-เสิงสาง-ครบุรี-วังน้ำเขียว-ปากช่อง- สระบุรี-กรุงเทพฯ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการถูกจับกุม นอกจากนี้ยังมีแรงงานชาวลาวบางส่วนที่ลักลอบเข้าทาง จ.มุกดาหาร นครพนม และหนองคาย กลุ่มนี้จะลงเรือไม่ติดเครื่องข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในช่วงกลางดึก ไปยังจุดนัดหมายในป่า จากนั้นจะมีรถตู้ รถปิกอัพพาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ "สังเกตนายทุนส่งแรงงานเหล่านี้ร่ำรวยรวดเร็วมาก มีบ้านหลังใหญ่ใน อ.วารินชำราบ และตัวเมืองอุบล ทั้งที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรชัดเจน มีเจ้าหน้าที่บางรายรับเป็นนายหน้าส่งระยะสั้นๆ ในแถบพื้นที่อีสาน ส่งแรงงานจากอุบลฯ ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี มีเจ้าหน้าที่บางคนรับส่งเอง แต่ถ้าส่งถึงกรุงเทพฯ มักเป็นนายหน้าใหญ่ที่ทำมานานแล้ว" แหล่งข่าวระบุ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยเข้ามาทำงานจนรู้จักเส้นทางและวิธีการอย่างดี คนกลุ่มนี้จำนวนมาก และเลือกวิธีการเดินทางเอง โดยผ่านด่านชายแดนตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้องในลักษณะมีบัตรผ่านแดนชั่ว คราว 3 วัน 2 คืน ส่วนใหญ่อ้างว่ามาหาหมอ เยี่ยมญาติ หรือมาซื้อขายสินค้า จากนั้นก็หายไปเลย ส่วนการส่งเงินกลับไปบ้านนั้น ชาวลาวกลุ่มนี้จะอาศัยนายหน้าชาวไทยเป็นธุระในการโอนเงินผ่านบัญชีของคนไทย จากพื้นที่กรุงเทพฯ หรือสมุทรปราการ ไปที่ธนาคารสาขาใน จ.อุบลราชธานี หรือจังหวัดชายแดนอื่นๆ จากนั้นจะโทรศัพท์นัดให้ญาติข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมารับเงินที่นายหน้าอีกคนเบิก เตรียมไว้ให้แล้ว โดยการโอนเงินให้ญาติแต่ละครั้งพวกเขาจะโดนหักหัวคิวร้อยละ 5-10 บาท เมื่อแรงงานชาวลาวลักลอบเข้าเมืองไทยจะเดินทางกลับบ้าน ก็ใช้วิธีแจ้งความต่อตำรวจไทยว่าพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทางหาย จากนั้นจะนำใบแจ้งความไปยื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อขอรับบัตรเหลืองผ่านแดน นำไปยื่นต่อตรวจคนเข้าเมืองแล้วเดินทางกลับประเทศได้โดยไม่มีความผิด ทว่าบางคนก็เลือกเดินให้ ตม.จับเพื่อส่งกลับประเทศ แล้วไปจ่ายส่วยที่บ้านตัวเองหัวละประมาณ 300 บาท ก็กลับบ้านได้อย่างสบายๆ