เตรียมทำพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 พรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) เชื่อมไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ คาดหลังเปิดใช้มูลค่าการค้าโตทันที 10% ต่อปี หรือมากกว่า 1.7 หมื่นล้านต่อปี วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่ด่านศุลกากรเชียงของแห่งใหม่ ตั้งอยู่บนถนนเชื่อมสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเตรียมความพร้อมในการจัดพิธีเปิดสะพาน อย่างเป็นทางการที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) หรือ 11-12-13) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสะพานพร้อมกับรองประธาน สปป.ลาว ด้วย นายศรชัย สร้อยพงษ์พราย นายด่านศุลกากรเชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนของสะพานและอาคารพิธีการด้านต่างๆ ทั้งอาคารศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมืองมีความพร้อมหมดแล้ว หลังทำพิธีเปิดก็จะสามารถให้บริการทางการค้าและประชาชนทั่วไปได้
ในส่วนของทางศุลกากรมีการเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ กำหนดอาคารสถาน เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องมือสื่อสาร ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เครื่องตรวจสอบสินค้า ที่สำคัญได้มีการนำรถเอกซเรย์สินค้าเพื่อตรวจสอบสินค้าผิดกฎหมายทุกประเภท ฯลฯ เอาไว้พร้อมแล้ว รวมทั้งในอนาคตยังจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวี ในพื้นที่ทั้งสองฝั่งประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของการให้บริการและความปลอดภัยในทุก ด้านด้วย สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรเชียงของในปี 2555 พบว่ามีการค้าเป็นมูลค่ารวมกว่า 12,500 ล้านบาท และในปี 2556 มีมูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 13,600 ล้านบาท ทำให้การค้ามีอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 9 ซึ่งทางสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์ว่า ในปี 2560 หลังการเปิดสะพานและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้การค้าด้าน อ.เชียงของ เติบโตขึ้นไปถึงกว่าร้อยละ 10 หรือมากกว่า 17,000 ล้านบาทต่อปี เพราะการขนส่งสินค้าสะดวก ลดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องเสียค่าขนส่งทางแม่น้ำโขงด้วยแพขนาน ยนต์เที่ยวละกว่า 1,800 บาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมรถเพียงคันละ 500 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น
ทั้งนี้ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เป็นการเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของภูมิภาคนี้ หรือ North-south economic corridor ตามโครงการความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส (Greater Mekong Sub region หรือ GMS) ที่มีการรวมกลุ่มกัน 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลหยุนหนัน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี (Asian Development Bank หรือ ADB) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก รวมทั้งยังเชื่อมถนนสายคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ กับกรุงเทพฯ ของไทย หรือ "“คุน-มั่ง กงลู่” ตัวสะพานเชื่อมหมู่บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ ของไทยกับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แต่จุดเริ่มต้นโครงการถนนในฝั่งไทยอยู่ที่บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน อ.เชียงของ ห่างจากริมฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงของไทยได้ออกแบบรายละเอียดโครงการมูลค่า 35 ล้านบาท และเมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมาก็สามารถคัดสรรเอกชนที่จะทำการก่อสร้างคือกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน กับบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย ภายใต้งบประมาณ 1,486.5 ล้านบาท โดยประเทศไทยและจีนสนับสนุนฝ่ายละ 50%
เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2553 โดยสะพานมีความยาวประมาณ 480 เมตร มีเสาตอม่อ 4 ตอม่อ มีความกว้าง 14.70 เมตร มีสองช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.50 เมตร และไหล่ทางข้างละ 2 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร เมื่อรวมกับถนนติดขอบฝั่งก็จะยาวประมาณ 630 เมตร มีถนนทั้งฝั่งไทย 5 กิโลเมตร และ สปป.ลาว 6 กิโลเมตร และมีอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่งประเทศ รูปแบบเป็นสะพานคอนกรีตรูปกล่อง (Segmental Concrete Box Girder) รวมทั้งมีการก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รูปทรงล้านนาประยุกต์เพื่อใช้เป็นจุดตรวจปล่อยร่วมกัน ณ จุดเดียวตามหลักประตูเดี่ยว (Single Stop Inspection) รวมเนื้อที่ฝั่งไทยทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ ทั้งนี้ หลังการเปิดใช้สะพานแล้ว ไทย และ สปป.ลาว มีการตกลงกันว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการบริหารและบำรุงรักษาสะพานร่วมกัน โดยกำหนดหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติให้ประชาชนสามารถใช้บริการข้ามสะพานได้ตาม ปกติตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป
นักวิชากานบางคนบอกว่า สะพาน หลายแห่งหลายที่ กลายเปันเหมือน ท่อส่งน้ำมัน หรื ท่ออะไรสักอย่างนี้ละ
มีเวลาไปย่างหลี้นอยุ่ขัว เวียงจันท - หนองคาย ดู
รถที่มาจากไทย เปันรถขนส่งสินค้า ส่วนรถที่ไปจากลาว มีแต่รถ ปล่าว ปล่าว ปลี้ ปลี้