กัมพูชาควรจัดการลงประชามติเพื่อตัดสินว่าประเทศจะจัดการเลือกตั้งใหม่หรือ ไม่ หลังมีข้อกล่าวหาว่า มีความผิดปกติร้ายแรงระหว่างการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ที่หยิบยื่นชัยชนะให้กับพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน นักวิเคราะห์การเมืองกล่าว ผลการเลือกตั้งเดือ นก.ค. ระบุว่า พรรครัฐบาลของฮุนเซน ชนะเสียงส่วนใหญ่ได้ที่นั่งในรัฐสภา 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง แต่ฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว และได้คว่ำบาตรรัฐสภานับแต่นั้น นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. สม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ได้จัดการชุมนุมประท้วงรายวันรอบใหม่ต่อต้านรัฐบาล และนำผู้สนับสนุนหลายพันคนเดินขบวนผ่านถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ลาออก และจัดการเลือกตั้งใหม่ ประธานกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน Licadho เสนอว่า การลงประชามติน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการฝ่าวิกฤตทางการเมืองของ ประเทศที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน 5 เดือน “ในความเห็นของดิฉัน ผู้นำของ 2 พรรคการเมืองต่างก็เป็นชาวเขมร หากพวกเขามีความตั้งใจดีเหมือนกัน และต้องการรับใช้ชาติ และประชาชน พวกเขาควรนั่งลง และหารือเพื่อหาหนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้ง” ประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าว “ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ดังนั้น ผู้นำทั้ง 2 ควรถามประชาชนผ่านการลงประชามติว่าพวกเขาต้องการการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่ต้องการจัดการเลือกตั้งใหม่ พวกเขาควรดำเนินการตามความต้องการของประชาชน หากไม่มีการลงประชามติหรือการเลือกตั้งใหม่ วิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้อาจนำประเทศไปสู่ความไร้เสถียรภาพทาง การเมือง และภาวะเศรษฐกิจซบเซา” รองผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งราชบัณฑิตสภากัมพูชา ได้แสดงความเห็นว่า การลงประชามติเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในประเทศประชาธิปไตย และยังเสนอว่าผู้นำของ 2 พรรคการเมืองควรกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการหารือ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่บริหารประเทศมาเป็นเวลา 28 ปี กล่าวเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ว่า เขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง หรือจัดการเลือกตั้งใหม่เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด นอกจากนั้น ฮุนเซน ยังขู่ว่าหากผู้ชุมนุมประท้วงปิดถนน หรือยึดอาคารรัฐบาลทางการจะดำเนินมาตรการทางกฎหมาย.
นายสม รังสี หัวหน้าฝ่ายค้านกัมพูชา ในวันนี้ (28) ได้เรียกร้องร้องการเจรจากับพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.ค. “เราต้องการที่จะส่งสารถึงพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ว่า ควรจะเป็นเวลาที่จะต้องพบหารือกันเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตทางการเมืองใน ปัจจุบัน เพราะปัญหานั้นขยายใหญ่ขึ้น และซับซ้อนขึ้น” สม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) กล่าวในการแถลงข่าว “ผมหวังว่าจะเป็นการหารือใหญ่ในช่วงต้นปีหน้า อาจเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2 ม.ค. หรือ 3 ม.ค. และจะเป็นการดีหากการหารือนั้นมีผู้แทนจากพรรคการเมืองอื่นๆ ภาคประชาสังคม และชุมชนนักธุรกิจ เข้าร่วมด้วย” นายรังสี กล่าว นายซา เค็ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ ขณะต้อนรับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่เดินทางกลับจากการเยือนเวียดนามว่า พรรค CPP นั้นยินดีเสมอที่จะหารือกับพรรค CNRP แต่เป็นพรรค CNRP ที่เปลี่ยนแปลงท่าทีไปมา นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. พรรค CNRP ได้จัดชุมนุมประท้วงรายวันรอบใหม่ และนำผู้สนับสนุนหลายพันคนเดินขบวนประท้วงผ่านถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ลาออก และจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังมีข้อกล่าวหาว่ามีความผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ผลการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ระบุว่า พรรครัฐบาลของฮุนเซนชนะเสียงข้างมากได้ที่นั่งในรัฐสภา 68 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว และได้คว่ำบาตรรัฐสภานับแต่นั้น นายแกม สุขา รองหัวหน้าพรรค CNRP กล่าวว่า แม้การเรียกร้องให้มีการจัดการเจรจาหารือกับพรรค CPP แต่พรรคจะยังคงจัดการชุมนุมประท้วงรายวันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 ธ.ค. นอกจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของฝ่ายค้านแล้ว แรงงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอหลายหมื่นคนได้ผละงานประท้วง ทั่วประเทศเมื่อวันพุธ (25) หลังรัฐบาลตัดสินใจที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ 95 ดอลลาร์ จาก 80 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2557 แต่สหภาพแรงงานที่สนับสนุนฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับค่าแรงใหม่ที่รัฐบาลกำหนด และเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานขึ้นเป็น 2 เท่าตั้งแต่ปี 2557 ในวันศุกร์ (27) เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล และแรงงานที่ชุมนุมประท้วงได้ปะทะกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 3 นาย และแรงงาน 4 คน ได้รับบาดเจ็บ ด้านโฆษกสารวัตรตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า การปะทะกันเกิดขึ้นเมื่อแรงงานที่ผละงานประท้วงหลายพันคนได้ปิดถนนหมายเลข 4 ที่บริเวณด้านหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชานกรุงพนมเปญ และขว้างปาก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงงาน และจนถึงวันนี้ (28) แรงงานยังคงปิดถนนเส้นดังกล่าว นายสม รังสี หัวหน้าพรรค CNRP ได้เรียกร้องให้บรรดาแรงงานที่ผละงานประท้วงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อ ต้านรัฐบาลของพรรค และยังให้คำมั่นว่า หากพรรคของตนขึ้นบริหารประเทศจะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 160 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ฮุนเซน ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง หรือจัดการเลือกตั้งใหม่เนื่องจากตนไม่ได้ทำอะไรผิด.
พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า ให้คำมั่นวันนี้ (28) ว่า จะลงสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2558 แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้ซูจี สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหารระบุห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งจากข้อความดังกล่าวเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า มีเป้าหมายอยู่ที่นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ซึ่งมีบุตรชายเป็นชาวอังกฤษ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุกันที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาให้แก่ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซูจี ได้ย้ำเตือนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาธิปไตยหยั่งราก ลงในพม่า ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่า พรรคของซูจี นั้นอาจคว่ำบาตรการเลือกตั้งปี 2558 แต่โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้เผยหลังการประชุมพรรคที่มีขึ้นในวันนี้ (28) ว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมการเลือกตั้งแม้จะไม่มีการแก่้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม “เราต้องลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2558 ไม่ว่าอะไรก็ตาม” โฆษกพรรค NLD กล่าวกับผู้สื่อข่าว และระบุว่า พรรค NLD ตั้งเป้าหมายไว้ที่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าการเลือกตั้งซ่่อมในปี 2555 ที่ได้เห็นนางซูจี และพรรคเข้าสู่รัฐสภา ในพม่า รัฐสภาเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี และรัฐสภาที่ไม่มีประสบการณ์ของพม่าถูกครอบงำโดยทหาร และพันธมิตรทางการเมือง ดังนั้น ชัยชนะในการเลือกตั้งจะช่วยให้พรรค NLD ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ในเวลานี้ รัฐสภากำลังตรวจสอบพิจารณารัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะรายงานคำแนะนำได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.