ผู้แทนรัสเซียแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวานนี้ (3 มี.ค.) ว่า อดีตประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครนเป็นผู้ร้องขอให้มอสโกส่งกองกำลังเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยบน คาบสมุทรไครเมีย คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ชาติ ได้เปิดประชุมฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 วันเพื่อหารือทางออกสำหรับวิกฤตยูเครน ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่างตึงเครียดและมีการชี้หน้าตำหนิซึ่งกันและกัน ขณะที่ผู้แทนฝรั่งเศสเปรียบเปรยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า ไม่ต่างจากเมื่อครั้งสหภาพโซเวียตบุกเชโกสโสวาเกียในช่วงสงครามเย็น คณะผู้แทนยูเครนกล่าวหาว่ารัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปยังคาบสมุทรไค รเมียแล้วราวๆ 16,000 นาย ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ และกองทัพเรือหมีขาวยังส่งเรือรบ 10 ลำไปปิดทางเข้าออกทะเลดำไว้ด้วย “หน่วยรบพิเศษของรัสเซียยังยึดค่ายทหารและหน่วยป้องกันชายแดนในไครเมีย และเสนอให้กองทัพยูเครนยอมจำนนภายใน 18.00 น.วันนี้” วิทาลีย์ เชอร์คิน ผู้แทนรัสเซียในยูเอ็น อ้างถึงความชอบธรรมของปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ โดยชี้ว่าอดีตประธานาธิบดียานูโควิชซึ่งถูกรัฐสภายูเครนถอดถอน ได้หลบหนีไปพึ่งพารัสเซีย และขอร้องให้ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ช่วยเหลือ เชอร์คิน ได้อ้างข้อความในจดหมายที่ ยานูโควิช ส่งถึง ปูติน เมื่อวันที่ 1 มีนาคมว่า “ยูเครนกำลังเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง เวลานี้ในประเทศมีแต่ความสับสนอลหม่านและภาวะอนาธิปไตย... อิทธิพลของชาติตะวันตกส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง ประชาชนถูกโจมตีด้วยเรื่องภาษาและจุดยืนทางการเมือง” “ดังนั้น ผมจึงขอวิงวอนให้ประธานาธิบดี ปูติน แห่งรัสเซีย ช่วยส่งทหารของสหพันธรัฐรัสเซียเข้าไปคืนความสงบเรียบร้อย, การบังคับใช้กฎหมาย และความมั่นคง ตลอดจนปกป้องพลเมืองยูเครนด้วย” รัฐสภารัสเซียได้เปิดประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ (3) เพื่อวางกรอบนโยบายต่อปัญหายูเครน หลังจากที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ขู่จะคว่ำบาตรมอสโกเพื่อลงโทษที่ละเมิดอธิปไตยของกรุงเคียฟ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ต่างติเตียนรัสเซียว่าพยายามหาข้ออ้างฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ซาแมนธา เพาเวอร์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ชี้ว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าชาวรัสเซียหรือพลเมืองยูเครนที่ให้การสนับสนุนรัสเซียถูกล่วง ละเมิดตามที่มอสโกอ้าง “ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียไม่ใช่ภารกิจปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ” เพาเวอร์กล่าว หลังจาก เชอร์คิน ได้บรรยายเรื่องหลักประชาธิปไตยให้ผู้แทนจากชาติต่างๆฟัง เพาเวอร์ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า “แล้วทำไมถึงไม่สนับสนุนให้ตั้งผู้แทนนานาชาติเป็นคนกลางล่ะ? ทำไมจึงไม่ถอนทหารรัสเซียออกมา แต่กลับส่งเข้าไปเพิ่มมากขึ้นอีก?” ด้าน มาร์ค ลีออล แกรนท์ ผู้แทนจากอังกฤษ ก็เรียกร้องให้รัสเซียยอมรับแผนส่งผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปในยูเครน เฌราร์ด อาโรด์ ผู้แทนฝรั่งเศส เปรียบเทียบการกระทำของรัสเซียในไครเมียว่า ไม่ต่างจากเมื่อครั้งสหภาพโซเวียตนำกำลังบุกเชโกสโลวาเกียในปี 1968 “ตอนที่ทหารโซเวียตบุกเชโกสโลวาเกีย ผมเพิ่งอายุ 15 ปี พวกเขาก็ใช้เหตุผลเดียวกันนี้” อาโรด์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การประชุมครั้งนี้ “ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง” และตนรู้สึกผิดหวังที่รัสเซีย “เอากระดาษแผ่นเดียวจากประธานาธิบดีที่ถูกโค่น มาเป็นเครื่องยืนยันความชอบธรรมในการส่งทหารบุกไครเมีย” เมื่อผู้สื่อข่าวถาม อาโรด์ ว่า เขาคิดว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของปลอมหรือไม่ ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “จดหมายไม่ได้ปลอม แต่ตัวประธานาธิบดีต่างหากที่ปลอม”
สหรัฐระงับความร่วมมือทางทหารทุกชนิดกับรัสเซีย รวมทั้งการซ้อมรบและการนำเรือเข้าจอดที่ท่า เหตุจากวิกฤตการณ์ในยูเครน
สหรัฐระงับความร่วมมือทางทหารทุกชนิดกับรัสเซีย รวมทั้งการซ้อมรบและการนำเรือเข้าจอดที่ท่า เหตุจากวิกฤตการณ์ในยูเครน ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ของสหรัฐต่อการที่รัสเซียยึดไครเมีย
โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ "พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี" แถลงว่า สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในยูเครน ทำให้กระทรวงกลาโหมตัดสินใจที่จะระงับความร่วมมือทางทหารทุกชนิดกับรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้กองกำลังรัสเซียในไครเมียกลับฐาน ตามที่กำหนดไว้ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยกองเรือทะเลดำรัสเซีย
ท่าทีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีบารัก โอบามา เตือนว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมออกชุดมาตรการคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการทูต เพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย
ขณะที่โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือเอ็นเอสซี "นางแคทลิน เฮย์เดน" แถลงว่า สหรัฐจะไม่ส่งผู้แทนประธานาธิบดีบารัก โอบามา เข้าร่วมกีฬาพาราลิมปิก ฤดูหนาว ที่เมืองโซชิ รัสเซีย เพื่อเป็นมาตรการเพิ่มเติมที่สหรัฐใช้ตอบโต้สถานการณ์ในยูเครน นอกเหนือจากมาตรการอื่น ๆ
โฆษกเอ็นเอสซีกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังสนับสนุนคณะนักกีฬาสหรัฐอย่างแข็งขัน ในการเข้าร่วมพาราลิมปิก ฤดูหนาวที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์นี้ (7 มี.ค.)
"บารัค โอบามา" ผู้นำสหรัฐ เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อหารือสถานการณ์ในยูเครน
"บารัค โอบามา" ผู้นำสหรัฐ เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อหารือสถานการณ์ในยูเครนกับคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ
ทำเนียบขาวสหรัฐแถลงว่า ผู้เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ประกอบด้วย นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหม
นางซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ นายแจ๊ค ลูว์ รัฐมนตรีคลัง และ พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์
ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวเตือนว่า หลายประเทศทั่วโลกเชื่อว่ารัสเซียละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศจากการเข้าแทรกแซงในยูเครน
ด้วยการเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในประเทศดังกล่าว ผู้นำสหรัฐคาดว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่ารัสเซียกำลังละเมิดอธิปไตยของยูเครนและกฎหมายระหว่างประเทศ