สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและพระราชอาณาจักรกัมพูชาจะโดนเล่นงานจากสหภาพยุโรป โดยการลงโทษทางเศรษฐกิจด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีด้าน
ต่างๆ
เครื่องมือที่หลายประเทศใช้เพื่อสร้างอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีจัดการกับประเทศอื่นที่ประเทศตนเองไม่พึงใจมีหลายอย่างครับ ที่ใช้กันมากที่สุดคือ Customs Tariff หรือภาษีศุลกากร ที่บางประเทศก็จัดเก็บตามสภาพ บางแห่งก็จัดเก็บตามราคา หลายประเทศใช้วิธีจัดเก็บแบบผสม บางแห่งใช้เครื่องมือ Surcharge หรือค่าธรรมเนียมพิเศษเล่นงานประเทศที่ดื้อในสายตาตัวเอง บางประเทศก็ใช้ Business Tax หรือภาษีการค้า และบางประเทศก็ใช้ Surtax หรือภาษีเสริม สิ่งต่างๆเหล่านี้ครับที่เรียกว่า Tariff Barrier หรืออุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษี
ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อ พ.ศ.2553 และมีเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2554 หลายประเทศก็เลิกคว่ำบาตรเมียนมาและหันมาให้สิทธิพิเศษทางการค้า โดยเฉพาะอีบีเอ หรือ Everything But Arms ทำให้เมียนมาส่งข้าวไปขายใน 28 ประเทศของสหภาพยุโรปได้อย่างราคาที่ต่ำกว่าส่งจากประเทศอื่น
ทว่าเรื่องของโรฮีนจาทำให้หลายประเทศบอกว่าเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชน เมียนมาพยายามแก้ตัว ทว่าแก้ได้ไม่หลุด เพราะหน่วยงานของสหประชาชาติลงพื้นที่จริงทั้งในฝั่งเมียนมาและบังกลาเทศ ได้ข้อมูลชัดเจน พร้อมที่จะลากผู้นำทหารเมียนมาไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
หลายประเทศพยายามสื่อถึงนางซูจีซึ่งมีบทบาทที่สุดในรัฐบาลเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยของเมียนมา ว่าถึงแม้ท่านจะมีประชาธิปไตยสากลแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านต้องมีหลักพหุวัฒนธรรมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาด้วย แต่รัฐบาลเมียนมาเฉยเมยต่อเรื่องนี้
ขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของสหภาพยุโรปประกาศแล้วว่า จะเริ่มเก็บภาษีข้าวอินดิกาซึ่งเป็นข้าวเจ้าเม็ดยาว ของเมียนมาตันละ 175 ยูโร เป็นเงินไทยก็ 6,400 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้ในห้วงช่วง 3 ปีนี้ ข้าวเมียนมาขายในยุโรปยากครับ เพราะราคาจะแพงกว่าเดิม
แค่โดนเรื่องข้าวเข้าไป พวกสมาชิกสหภาพข้าวเมียนมาก็ร้องโอดโอย ตอนนี้เริ่มตะโกนบอกสังคมโลกขอให้สหภาพยุโรปช่วยเมียนมาด้วย เมียนมามีปัญหาเยอะแยะที่ต้องแก้ไข ถ้ามาโดนเก็บภาษีข้าวสูงขนาดนี้ ชาวนาเมียนมาแย่แน่
ผมยังจำได้ว่า พ.ศ.2559 มีโครงการสมาร์ทเมียนมา ทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมาส่งออกเป็นสินค้าทำเงินเพิ่มขึ้นและเติบโตมากกว่าร้อยละ 300 เป็นเวลาติดต่อกันหลายปี สหภาพยุโรปส่งเงินช่วยเหลือมาให้เมียนมาเกือบ 5 ล้านยูโรเพื่อใช้อบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารและคนงานเมียนมา ออเดอร์สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ มีมากจนโรงงานต้องเร่งรับคนงานเพิ่มขึ้น โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ร่วมโครงการสมาร์ทเมียนมาเพิ่มการจ้างงานแรงงานหญิงได้มาก ถึง 3 แสนคน
การไม่ยอมรับพหุวัฒนธรรมของรัฐบาลเมียนมาทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังยับย่อย เริ่มจากภาษีข้าวแล้ว ก็จะลามไปสินค้าประเภทอื่น คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแล้วนะครับว่า จะยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าทุกอย่างยกเว้นอาวุธ (อีบีเอ) ต่อเมียนมาในอนาคตอันใกล้ กัมพูชาก็เหมือนกัน ตอนที่สมเด็จฮุน เซน จับนายกึม ซกคา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเข้าคุก ก็มีเสียงฮึ่มฮั่มจากทางสหภาพยุโรป พอถึง 29 กรกฎาคม 2561 การเลือกตั้งทั่วไป พรรคของฮุน เซน ได้ ส.ส. 125 คนทั้งสภา ทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจหันมาเก็บภาษีข้าวจากกัมพูชา
ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาออกแถลงการณ์ประณามมาตรการของสหภาพยุโรปแล้วครับว่าการเก็บภาษีข้าวของสหภาพยุโรปเป็นอาวุธที่ใช้เข่นฆ่าเกษตรกรกัมพูชา
ไทยซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับเมียนมาและกัมพูชาจะต้องเตรียมรับมือกับแรงงานเมียนมาหลายแสนคนที่ตกงานเพราะสหภาพยุโรปเริ่มเก็บภาษีสินค้าจากทั้งสองประเทศ
มีประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ
ต้องมีพหุวัฒนธรรมด้วย.
ສປປ ລາວ ຈະບໍ່ຖືກອົງການສາກົນໃດລົງໂທດເພາະຣັຖບານຜະເດັດການລາວຢູ່ໃຕ້ແອກຫວຽດນາມຖ້າຫລິ້ນງານຫວຽດນາ ສປປ ລາວ ຈຶ່ງຈະເຈັບໄປຕາມ.