ตำรวจสอบสวนกลางเข้าจับกุมผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร ได้พร้อมเงินสด 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินบนจากพ่อค้าไม้ ที่ศาลสั่งให้คืนของกลางให้ เพราะมีกรรมสิทธิในไม้อย่างถูกต้อง แต่กลับใช่ช่องทางที่เป็นหนึ่งในผู้จับกุมเมื่อ 15 ปีก่อน ติดต่อเรียกรับเงิน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 มี.ค.2564 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เมืองทองธานี พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และพ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.1 บก.ปปป.
ร่วมแถลงข่าวการจับกุม นายสุรเดช อัคราช อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร และน.ส.กชพรรณ แสงวิรุณ หรือ น.ส.ทิพย์เกษร แสงวิรุณทร อายุ 27 ปี จากการเรียกรับสินบน 2 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกการคืนของกลางไม้พะยูง โดย จับกุมได้ที่ร้านกาแฟใกล้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ จ.มุกดาหาร พร้อมของกลางเงินสด 2 ล้านบาท และโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า คดีเริ่มจากเมื่อปี 2549 ตำรวจป่าไม้ตรวจยึดไม้พะยูง จำนวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ตรวจสอบพบถูกสวมเป็นไม้ต่างแดน และใช้เอกสารผ่านแดนปลอม จึงจับกุมฐานมีไม้และครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนดำเนินคดีใช้เอกสารปลอมที่ จ.มุกดาหาร ส่วนคดียึดไม้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาจึงสั่งคืนไม้ของกลางกับบริษัทผู้เสียหาย แต่เนื่องจากเป็นไม้ของ สปป.ลาว จึงมีผู้แจ้งสิทธิ์จากสปป.ลาวเข้ามาหลายราย
พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ กล่าวว่า เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา นายคำสะไหว พมมะจัน อายุ 51 ปี นักค้าไม้ชาว สปป.ลาว เป็นตัวแทนบริษัทพงษ์สวรรค์ วู๊ดอินดัสตี้ อ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ไม้พะยูงดังกล่าว มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ให้ดำเนินคดีนายสุรเดช ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไม้ดังกล่าวในขณะนั้น ได้ติดต่อผู้เสียหายเพื่อเรียกรับเงิน 2 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการส่งไม้คืน
โดยนายสุรเดช นัดรับเงินที่ จ.มุกดาหาร ผู้เสียหายจึงแจ้งชุดจับกุม ก่อนร่วมกันนำเงินสด 2 ล้านบาท ทำตำหนิไว้บนธนบัตร ใส่ถุงพลาสติกหูหิ้ว นำไปให้นายสุรเดช ตามสถานที่นัดหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์ กระทั่งพบนายสุรเดช พูดคุยกับผู้เสียหายก่อนจะเรียก น.ส.กชพรรณ เข้าไปรับเงินจากผู้เสียหายที่จอดรถรออยู่หน้าร้านกาแฟ ตำรวจจึงแสดงตัวจับกุม
จากการสอบสวนเบื้องต้น นายสุรเดชให้การปฏิเสธ ส่วนน.ส.กชพรรณ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหานายสุรเดช ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนน.ส.กชพรรณ แจ้งข้อหา เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์โดยมิชอบฯ นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
นายชีวะภาพ กล่าวว่า หลังศาลสั่งให้คืนไม้แก่บริษัท บก.ปทส.จึงประสานกรมป่าไม้ที่เป็นหน่วยงานร่วมตรวจยึด ส่งตัวแทนไปเป็นพยานการส่งคืนไม้ แต่มีผู้อ้างสิทธิ์เข้ามาจนมีการทุจริตดังกล่าว ทั้งนี้ ปลัดกระทรวง ทส.ได้สั่งให้ดำเนินการถึงที่สุดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการในระดับใดก็ตาม โดยจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งมีโทษร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นให้ออกจากราชการ
อย่างไรก็ตาม หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง และไม่ขอริบไม้พะยูงของกลางทั้งหมด ปรากฎว่าในช่วงเดือน มิ.ย. 2556 ได้มีผู้ยื่นเอกสารอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของไม้พะยูง 3 ราย คือ สถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนรัฐบาลลาว นายสมสัก แก้ผาลี และนายอรัญญา อุบัติสิงห์ ผู้แทนบริษัท พงสะหวันค้าไม้ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกไม้ของสปป.ลาว แต่ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศกลับเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว ตามที่ได้ทำหนังสือร้องขอมา โดยให้แจ้งทางฝ่ายลาวว่า ให้แต่งตั้งผู้ได้รับมอบหมายให้รับไม้คืน พร้อมนำข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ความเป็นเจ้าของไม้ เพื่อจะได้ส่งไม้พะยูงของกลางทั้ง 11 ตู้คอนเทนเนอร์กลับคืนไปให้ต่อไป
นายสมสัก แก้วผาลี ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน สปป.ลาว
ไม้พะยูงซึ่งอยู่ที่ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง
https://www.isranews.org/article/isranews-news/95236-Payoong22.html
ເງິນລ້ານຫາງ່າຍຫລາຍສຳລັບເຈົ້ານາຍບາງຄົນທີ່ມີອຸດົມກິນ.