ລາວໂຮມລາວ ເພື່ອປະຊາທິປະໄຕ

Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: จีนกับผลประโยชน์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


Member

Status: Offline
Posts: 6
Date:
จีนกับผลประโยชน์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
Permalink   
 


 

ในบรรดามหาอำนาจของโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศเดียวที่มีดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีประมาณ 162,760 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 21% ของลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 775,740 ตารางกิโลเมตร) ในบรรดา 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงกับมณฑลยูนนานของจีน จีนเป็นผู้มีศักยภาพสูงสุดในการใช้น้ำในลำน้ำล้านช้าง ซึ่งเป็นส่วนบนของแม่น้ำโขง ไปในทางให้คุณหรือให้โทษแก่ประเทศอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำนี้ ผลประโยชน์ของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีอะไร อย่างไร จีนมียุทธวิธีในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของตนอย่างไร มีอะไรบ้างที่เป็นประเด็นสำคัญ ที่จีนกับประเทศในอนุภูมิภาคร่วมมือกันทำ หรือมีความขัดแย้งกัน ล้วนเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทุกคนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงควรทราบ และหาทางอยู่ร่วมกันในเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ยังควรมองไปข้างหน้าด้วยว่า ในอนาคตจีนกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จะร่วมมือกัน หรือควรร่วมมือกันอย่างไร เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาเสนอในที่นี้

1. ผลประโยชน์ของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

แม่น้ำล้านช้างซึ่งเป็นส่วนบนของแม่น้ำโขง มีความยาวประมาณ 2,130 กิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลยูนนานของจีน ปริมาณน้ำที่ไหลจากพรมแดนจีนเข้าสู่เขตแดนพม่า-ลาวนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16-20% ของปริมาณน้ำของแม่น้ำโขง ตอนที่ไหลออกจากปากน้ำลงสู่ทะเล ในฤดูแล้งระดับน้ำจะลดลงตามปกติเหมือนกับแม่น้ำทั่ว ๆ ไป แต่ไม่มีโอกาสแห้ง เพราะปริมาณน้ำส่วนหนึ่งมีแหล่งที่มาจากน้ำตก และอีกส่วนหนึ่งมาจากหิมะที่ละลายจากภูเขาในทิเบตและชิงไห่ ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 4,975 เมตร ฉะนั้น จึงถือได้ว่าน้ำส่วนที่ไหลจากจีนนั้น มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน สัตว์น้ำ และสัตว์บก ตลอดลำน้ำล้านช้าง-แม่โขง

รัฐบาลกลางของจีนที่ปักกิ่งให้ความสำคัญแก่แม่น้ำสายนี้ ควบคู่กันไปกับการให้ความสำคัญแก่มณฑลยูนนาน ในฐานะที่แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงสามารถเชื่อมโยงจีนเข้ากับเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ และยูนนานเป็นด่านหน้าที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่า ลาว และเวียดนาม ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ของจีนคือ ยกให้มณฑลยูนนานเป็นด่านหน้า สำหรับพัฒนาอาณาบริเวณด้อยพัฒนาของจีนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 มณฑล (ยูนนาน กุ้ยโจว ซื่อชวน และชิงไห่) และ 2 เขตปกครองตนเอง (ทิเบตหรือซีจั่ง และกว่างซีหรือกวางสี) ภาระอันนี้มีความหมายสำคัญในทางการเมือง เพราะจีนคอมมิวนิสต์มีนโยบายที่จะลดช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งของอาณา บริเวณชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมีการลงทุนจากต่างประเทศมาก และแถบตะวันตกของประเทศซึ่งการลงทุนต่างประเทศไปไม่ค่อยถึง การถ่ายเทสินค้าและทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของอาณาบริเวณดังกล่าว

ผลประโยชน์พิเศษที่รัฐบาลจีนคาดหมายให้มณฑลยูนนานช่วยส่งเสริมก็คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อสนองความต้องการภายใน และเพื่อการส่งออก เมื่อจีนเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ จากสังคมนิยมเป็นทุนนิยมหลังเหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรม และมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน พลังงานกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การใช้พลังงานในจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนเปลี่ยนฐานะจากการเป็นประเทศส่งน้ำมันออก มาเป็นประเทศที่สั่งน้ำมันเข้าสุทธิในทศวรรษ 1980 อัตราการบริโภคน้ำมันและแก๊สได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency) รายงานว่า ในปี 2003 จีนเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การสั่งน้ำมันเข้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการใช้แก๊สและถ่านหินก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ถ่านหินยังมีปริมาณส่งออกสุทธิ ครั้นจะหันไปสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูเพิ่มขึ้น ก็ขาดความมั่นใจในความปลอดภัย จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ มณฑลยูนนานมีภูมิประเทศที่เหมาะสม เพราะเป็นทางผ่านของต้นน้ำของแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำแยงซี แม่น้ำจู (ไข่มุก) และแม่น้ำแดงของเวียดนาม ซึ่งต่างก็มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงในทิเบตและชิงไห่ มีแหล่งน้ำที่ไหลจากที่สูงชัน ซึ่งเหมาะแก่การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมาก ปัจจุบันมณฑลยูนนานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้ประมาณ 10% ของกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมดของประเทศ และยังมีศักยภาพที่จะผลิตเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 24% แม่น้ำล้านช้างเป็น 1 ใน 6 ของแม่น้ำในจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเป็นอันดับแรก ๆ ของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีนในอาณาบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงมณฑลกวางตุ้ง ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานเป็นสำคัญ ไม่เพียงแต่ต้องการตอบสนองความต้องการภายในซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่จีนมุ่งหวังที่จะส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง เช่นไทยด้วย

จีนมีผลประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในฐานะเป็นภาคีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ ต้องการบรรยากาศสันติภาพ ชาวจีนนิยมมองปัญหาความมั่นคงของตนโดยอิงประวัติศาสตร์ ความไม่สงบในประเทศใกล้พรมแดนจีนนำความเดือดร้อนมาให้ตน ด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ตาม สงครามใกล้พรมแดนจะดึงจีนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตลอดมา เช่น สงครามระหว่างคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนกับฝรั่งเศส (1945-1954) กับสหรัฐฯ (1962-1975) ระหว่างคอมมิวนิสต์เวียดนามกับกัมพูชาประชาธิปไตย (1978-1989) ขบวนการคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับรัฐบาลไทยในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ยังมีความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อในพม่า ในอดีตความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคนี้ บางครั้งก็เป็นประโยชน์ต่อจีน แต่ในปัจจุบันประเทศในอนุภูมิภาคเหล่านี้ล้วนเป็นเอกราช และมหาอำนาจภายนอกซึ่งเป็นอริต่อจีนก็หมดไปแล้ว ทำให้จีนคิดถึงประเทศในอนุภูมิภาคนี้ ในเชิงการตลาดเป็นสำคัญ การส่งเสริมฐานะให้คู่ค้ามีอำนาจซื้อก็มีความสำคัญ การสร้างเส้นทางคมนาคมและการขนส่ง เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าก็เป็นผลประโยชน์ของชาติ และนั่นย่อมหมายความถึงการสร้างผลประโยชน์ของชาติในด้านความมั่นคงด้วย

2. ยุทธวิธีในการส่งเสริมผลประโยชน์ของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ในด้านการเมืองและความมั่นคง ในช่วงปี 1950-1976 จีนส่งเสริมการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอนุภูมิภาค เช่น ไทยและพม่า ด้วยการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การเมืองและทางจิตใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อบรมและให้ความรู้ด้านอุดมการณ์ ให้ทุนดูงานในจีน ให้ที่หลบซ่อนหรือที่พำนัก แก่ผู้นำขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีน และให้ใช้สื่อมวลชนโฆษณาชวนเชื่อให้ เป็นต้น ในส่วนที่เป็นกองกำลังต่อต้านจักรวรรดินิยมต่างชาติ ซึ่งคุกคามความมั่นคงของจีนด้วย เช่น ขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลฝ่ายขวา ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชาสมัยนายพลลอนนอล จีนให้ความสนับสนุนทุกด้านทั้งในทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ ผลก็คือ คอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ประสบชัยชนะ ทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ได้รับบทเรียนอันแสนสาหัสในยุทธภูมิอินโดจีน ครั้นแล้วคอมมิวนิสต์เวียดนามกับเขมรแดง ก็ขัดแย้งถึงขั้นทำสงครามกันเอง จีนเข้าข้างเขมรแดง ผลก็คือเวียดนามต้องถอนทหารออกจากกัมพูชา เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชและจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ควบคู่กันไปกับการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ค่ายสหภาพโซเวียต รัสเซียไม่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีนอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากรัสเซียโดยตรง หรือภัยที่คุกคามจีนจากทางใต้ ผ่านเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตามที่ผู้นำจีนในกรุงปักกิ่งหวาดระแวง กล่าวโดยสรุป ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนย่างเข้ายุคที่มีความปลอดภัยจากการคุกคามภายนอกมากที่สุด ตั้งแต่สถาปนาระบอบสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 เป็นต้นมา

ในบรรยากาศหลังสงครามเย็น จีนฉวยโอกาสปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น หลังจากที่ได้ร่วมมือกันนานสิบปีเศษ ในการฟื้นฟูเอกราชให้แก่กัมพูชา แม้ในทศวรรษ 1990 อาเซียนจะขยายตัวจาก 6 ประเทศเป็น 10 ประเทศ ซึ่งรวมลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา เข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ จีนก็มิได้หวั่นวิตกว่าอาเซียนใหม่จะเป็นศัตรูกับจีน

ในด้านความสัมพันธ์กับ 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง หลังจากแก้ไขปัญหากัมพูชาได้แล้ว จีนได้พยายามสานต่องานกระชับมิตรภาพกับไทยและพม่า ในขณะเดียวกัน ก็พยายามปรับปรุงสัมพันธภาพอันสับสนยุ่งยาก ที่มีกับเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ลาว และกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสองประเทศนี้ ฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำจีนกับผู้นำลาว กัมพูชาและเวียดนาม ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสามประเทศเข้าสู่ระดับปรกติ ประวัติความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศทั้งสามนั้นมีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย แม้แง่ดีจะคงอยู่ยาวนานกว่าแง่ร้าย แต่ความหวาดระแวงมหาอำนาจจีน ของบรรดาผู้นำลาวและเวียดนามคงจะลบเลือนไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขมขื่นที่ผู้นำเวียดนามจะต้องคิด เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่จีนใช้ทหาร 200,000 คน พร้อมด้วยรถถัง ปืนใหญ่ และจรวด บุกข้ามพรมแดนไปถล่ม 6 จังหวัดของเวียดนาม ที่มีพรมแดนติดต่อกับจีน (17 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม 1979) อย่างไรก็ตาม จีนพยายามทำความเข้าใจกับความบอบบางของลัทธิชาตินิยม ไม่ผลีผลามทำอะไรที่จะถูกตีความว่า จีนจะมาครอบงำพวกเขาในรูปแบบลัทธิครองความเป็นเจ้า กลยุทธ์ของจีนอาจจะเห็นผลในระยะยาว เพราะจีนมีปัจจัยเอื้อที่สำคัญคือ จีนกำลังเติบโตในทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ได้รับความเชื่อถือในโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่มีมหาอำนาจภายนอก ที่เข้ามาส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับจีน ยิ่งกว่านั้นประเทศเหล่านี้มองไม่เห็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำตัวเป็นมิตรกับจีน

เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นส่วนหนึ่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่ น้ำโขง จีนได้ให้คำมั่นแก่สมาชิกของอาเซียนว่า จะให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนน ที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างจีนกับไทย ผ่านพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จีนให้คำมั่นแก่ผู้นำอาเซียนว่า จะให้ร่วมมือในการสร้างทางรถไฟเชื่อมสิงคโปร์กับคุนหมิง โดยผ่านกัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ พนมเปญ และฮานอย สำหรับเครือข่ายทางรถยนต์และทางรถไฟในมณฑลยูนนานนั้น ฝ่ายจีนได้ดำเนินการไปพร้อมกันแล้ว จีนช่วยบูรณะถนนบางช่วงในลาว แต่ความจริงมีอยู่ว่าการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในลาวและพม่านั้น จะทำอย่างกระตือรือร้นเกินเหตุ ดังที่ทำในไทยและจีนนั้นไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ทุกประเทศในอนุภูมิภาคนอกจากจีนและไทย มีปัญหาอื่นที่สำคัญกว่าที่จะต้องขบแก้ และพวกเขายังไม่เต็มใจที่จะเกาะกระแสโลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมเหมือนอย่าง ไทยและจีน

ในทำนองเดียวกัน จีนแสดงความกระตือรือร้นในการพัฒนาลำน้ำแม่โขง-ล้านช้างเพื่อใช้ในการคมนาคม และขนส่ง จีนเป็นเจ้าภาพในการสำรวจแม่น้ำโขงร่วมกันหลายครั้ง โดยจีนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย การสำรวจที่ใช้เวลายาวนานที่สุด (83 วัน) ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 1993 คณะสำรวจประกอบด้วย เจ้าหน้าที่-นักวิจัย-ผู้เชี่ยวชาญของจีน ลาว ไทย และพม่า รวม 66 คน (ดู Report on an Investigation of Waterway Transportation along the Upper Mekong River of China, Laos, Myanmar and Thailand," by Upper Mekong Associated Survey Team of China, Laos, Myanmar and Thailand, May 19, 1993) นายกรัฐมนตรี จู หรงจี ให้สัญญาต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่บรูไน (5-7 พฤศจิกายน 2001) ว่า จีนจะช่วยออกเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงเส้นทางเดินเรือในลำน้ำล้านช้าง-แม่โขง

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 20 เมษายน 2000 จีน พม่า ลาว และไทย ได้ลงนามในข้อตกลงการเดินเรือเพื่อการค้า (Commercial Navigation Agreement) ซึ่งทั้ง 4 ประเทศตกลงกันว่า จะปรับปรุงแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ช่วงซือเหมาถึงหลวงพระบาง ให้เรือสินค้าขนาดระวาง 100-150 ตันเดินได้อย่างน้อยปีละ 11 เดือน เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้ ทั้ง 4 ประเทศได้ตกลงแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ ทำการสำรวจเกาะแก่งที่ตื้นเขิน (shoals) ที่ที่น้ำไหลเชี่ยว (rapids) และโขดหิน (reefs) ซึ่งทั้งหมดมีมากกว่า 100 แห่ง คณะทำงานของทั้ง 4 ประเทศ (Environmental Impact Assessment Team and a Detailed Survey Team) ได้ทำการสำรวจ (เดือนเมษายน 2001) พื้นที่ที่ต้องมีการระเบิดแล้วมีความเห็นว่า การทำเช่นนั้นจะไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง 4 ประเทศตกลงกันให้เจ้าของประเทศของเกาะแก่งฯ ที่ต้องปรับปรุงหรือระเบิดเป็นผู้ดำเนินงาน โดยจีนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (งบประมาณ 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีของน้ำลด (ปี 2003) ปัจจุบันจีนและลาวได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีชาวบ้านและองค์กรเอกชนประท้วง การระเบิดโขดหินที่คอนผีหลวง ในจังหวัดเชียงราย ยังคงค้างอยู่ จีนมิได้เร่งรัดให้ปฏิบัติตามข้อตกลง เพราะรู้ปัญหาของไทยดี อย่างไรก็ตาม การเปิดเส้นทางเดินเรือเชียงแสน-ซือเหมา ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2001

สำหรับการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำล้านช้างนั้น จีนทำไปโดยลำพัง จีนมีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลำน้ำล้านช้างมากกว่า 10 เขื่อน ที่แน่นอนแล้วมี 8 เขื่อน คือ เขื่อนมั่นวาน (กำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์) และเขื่อนต้าเฉาซาน (1,350 เมกะวัตต์) สร้างเสร็จแล้วในปี 1995 และ 2003 ตามลำดับ เขื่อนเสี่ยววาน (4,200 เมกะวัตต์) เขื่อนจิ่งหง (1,500 เมกะวัตต์) กำลังก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2012 และ 2013 ตามลำดับ เขื่อนกันหลันป้า (250 เมกะวัตต์) ก็เริ่มงานแล้ว แต่ยังไม่ทราบวันกำหนดแล้วเสร็จ เขื่อนใหญ่ที่สุดคือ นั่วจาตู้ (5,500 เมกะวัตต์) จะเริ่มงานก่อสร้างปี 2005 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2016 ส่วนอีก 2 เขื่อนคือ เมิ่งสง และกงกว่อเฉียว ยังอยู่ในขั้นออกแบบ เฉพาะ 8 เขื่อนที่จะสร้างแน่นอนแล้วนั้น จะมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันถึง 15,650 เมกะวัตต์

จีนมีความพร้อมในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำค่อนข้างมาก เพราะระบบการศึกษาของจีนได้ผลิตวิศวกรไฟฟ้าพลังน้ำออกมามาก อุตสาหกรรมเครื่องจักรปฏิกรณ์ไฟฟ้าก็มีรากฐานดี แม้บางอย่างจะต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม ที่สำคัญคือจีนสามารถระดมทุนได้ง่าย

เป้าหมายของจีนคือ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้พอใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า ในอาณาบริเวณใกล้เคียงตามที่กล่าวแล้ว ส่วนที่จะส่งออกนั้นดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก ตลาดที่สำคัญคือ ไทยนั้น จะต้องวางสายผ่านลาวหรือพม่า ทั้งสองประเทศนี้คงไม่สนใจให้สายไฟของต่างชาติพาดผ่านเท่าไรนัก ในขณะที่พม่าก็มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเชื้อชาติ ลาวเองก็ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกเช่นกัน แต่ระยะยาว การเชื่อมโยงสายไฟฟ้าผ่านประเทศอาจทำได้ง่ายขึ้น ถ้าหากการเฉลี่ยผลประโยชน์มีความเป็นธรรมพอควร และที่สำคัญคือทั้งจีนและไทย ต่างก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับพม่าและลาว

3. ความร่วมมือและความขัดแย้ง

การใช้แม่น้ำโขงเป็นสื่อในการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคฯ ยังเป็นของใหม่ และมีประวัติความเป็นมาไม่สู้จะราบรื่นนัก การจัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) ในปี 1957 เกิดขึ้นหลังจากประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีนได้รับเอกราชไม่นาน ผู้ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรนี้ที่สำคัญเป็นคนนอกภูมิภาค โดยมีกลไกของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ คือ Economic Commission for Asia and the Far East หรือ ECAFE (ESCAP ปัจจุบัน) เป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญ ครั้งนั้นไม่มีจีนและพม่าร่วมด้วยเพราะปัญหาการเมือง

สงครามและความแตกแยกในกัมพูชาในช่วงปี 1978-1994 ทำให้สมาชิกของคณะกรรมการแม่โขงเหลือเพียง 3 ประเทศ จึงเรียกกันว่า Interim Mekong Committee ในช่วงนี้มีความขัดแย้งกันรุนแรงในบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและจีน คณะกรรมการแม่น้ำโขงชั่วคราวจึงเกือบมิได้ทำอะไรเลย ในระหว่างนั้น รัฐบาลไทยซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวสมัยที่ 1 (1991-1992) ได้พยายามจะปฏิรูปโครงสร้างของคณะกรรมการแม่โขงชั่วคราวใหม่ โดยเชิญจีนและพม่าเข้าร่วมด้วย รัฐบาลได้ดำเนินงานทางการทูต เพื่อชักชวนให้ทุกประเทศรวมทั้งจีนและพม่าเห็นชอบด้วย และมีนโยบายว่าถ้าไม่มีจีนและพม่า ก็ให้ระงับการรื้อฟื้นคณะกรรมการแม่โขงนี้เสีย แต่ยังไม่ทันสัมฤทธิผล รัฐบาลอานันท์ก็หมดวาระเสียก่อน รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต่อมา มิได้ยึดถือนโยบายนี้อีกต่อไป ภายใต้การนำของรัฐบาลชวน หลีกภัย ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมทำพิธีลงนามกันในข้อตกลงใหม่ที่เชียงราย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1994 (Agreement on the Cooperation for the Sustainable Development of the Mekong River Basin)

ทราบว่า รัฐบาลทำตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ ถามว่าลงนามไปทำไมในเมื่อไม่มีจีนและพม่าร่วมด้วย คำตอบจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น ก็คือ เวียดนามไม่อยากให้จีนเป็นภาคี และไทยเชื่อว่าจีนจะเข้ามาเป็นสมาชิกในภายหลัง ถามว่าลงนามไปได้อย่างไรในเมื่อจีนอยู่เหนือน้ำแต่ใช้น้ำได้อย่างเสรี ในขณะที่ไทยถูกข้อตกลงบังคับในการใช้น้ำในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะต้องถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ที่จัดตั้งขึ้น คือการใช้น้ำบางอย่างจะต้องได้รับอนุมัติ (approval) บางอย่างจะต้องปรึกษาหารือล่วงหน้า (prior consultation) และบางอย่างจะต้องแจ้งเพื่อทราบ (notification) อันนี้ไม่มีคำตอบ

นับว่าเป็นโชคดีของจีนที่มีประเทศแม่โขงตอนล่าง ที่ไม่เห็นคุณค่าของจีนในการเข้าเป็นสมาชิก นับว่าเป็นความโง่เขลาของรัฐบาลไทย ที่เสียแรงและความคิดไปเป็นอันมาก ในการล็อบบี้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งจีนและพม่าให้เข้ามาร่วมเป็นภาคีด้วย เป็นความกรุณาของจีนและพม่า ที่มักจะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไม่มีพันธะที่จะต้องทำตามข้อตกลงหรือมติของคณะกรรมการแม่โขง (Mekong River Commission) ซึ่งย้ายสำนักงานจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ในพนมเปญ และเวียงจันทน์ (ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละ 5 ปี ย้ายจากพนมเปญไปตั้งอยู่ที่เวียงจันทน์เมื่อต้นปี 2004) ถ้าจีนและพม่าจะทำตามข้อตกลงหรือมติที่ประชุมคณะกรรมการแม่โขง ก็เป็นเรื่องให้ความกรุณาปรานี มากกว่าพันธะตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำล้านช้างของจีน เป็นประเด็นที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศวิตกกังวลอย่างมาก แต่ในปัจจุบันซึ่งสิทธิ-เสรีภาพและความตื่นตัวด้านนี้ ของประชาชนในอนุภูมิภาคยังมีน้อย มีเพียงสื่อมวลชนไทย องค์กรเอกชนในไทย และนักเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเท่านั้น ที่แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการสร้างเขื่อนของจีน แต่คนที่จะมีข้อมูลประกอบในการแสดงความเห็นนั้นยังมีน้อย

ปัญหาน้ำตื้นเขินในฤดูแล้งทุกปีจะมีคนออกมากล่าวโทษว่า มีมูลเหตุมาจากการสร้างเขื่อนในจีน เรื่องนี้อาจจะเป็นจริงได้เฉพาะช่วงสั้น ๆ ถ้ามีอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น หรือมีการปิดกั้นน้ำในบางตอนของการสร้างเขื่อน หรือมีการกักเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำ ด้วยความจงใจจะให้ผู้อยู่ตอนล่างของแม่น้ำเดือดร้อน แต่โดยปรกติ ผลประโยชน์ของจีนและผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำใต้เขื่อนจะสอดคล้องกัน คือจีนจะกักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าในฤดูแล้ง

Quang M. Nguyen, P.E. ได้เขียนรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในจีน และผลกระทบต่อระดับน้ำใต้เขื่อน (เรื่อง "Hydrologic Impacts of China’s Upper Mekong Dams on the Lower Mekong River," June 28, 2003) ท่านได้ทำวิจัยเรื่องนี้โดยการศึกษาระดับน้ำจากเครื่องวัดน้ำที่เชียงแสนใน ช่วงฤดูแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน) ของช่วงปี 1961-1993 (ก่อนเขื่อนมั่นวานสร้างเสร็จ) กับช่วงปี 1994-2000 ท่านให้ข้อสรุปว่าระดับน้ำได้เพิ่มจาก 2.05 เมตรเป็น 2.73 เมตร โดยเฉลี่ย ปริมาณน้ำไหลที่เชียงแสนเพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง หลังจากเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว ระดับน้ำสูงสุดในฤดูแล้งช่วงนั้น ปริมาณน้ำไหลเพิ่มจาก 979 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,490 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เพิ่ม 52%) ช่วงน้ำแห้งสุด ปริมาณน้ำไหลเพิ่มจาก 477 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 807 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เพิ่ม 69%) เฉลี่ยตลอดช่วงดังกล่าวปริมาณน้ำไหลเพิ่มจาก 654 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,055 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เพิ่ม 61%)

เมื่อต้นปี 2004 ปรากฏว่าแม่น้ำโขงที่เชียงแสนระดับน้ำตื้นเขินผิดปรกติ มีข่าวในสื่อมวลชนหลายแหล่งกล่าวโทษว่าเขื่อนในจีนเป็นต้นเหตุ คณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ที่กรุงพนมเปญออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ (www.mrcmekong.org/news_events/ press_release/2004press03.htm) อธิบายว่าปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำ ต้นเหตุมิใช่การสร้างเขื่อนในจีน แต่เป็นเพราะปีนี้แล้งมาก คำอธิบายนี้สอดคล้องกับจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ The Nation จาก Mekong River Commission Secretariat (The Nation, March 30, 2004, 5A)

เขื่อนในจีนอาจจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาไม่มากก็น้อย พันธุ์สัตว์น้ำอาจจะลดลง (ปัจจุบันมีปลาประมาณ 1,300 ชนิด) เพราะเขื่อนในจีนไม่มีบันไดปลาโจนให้ปลาสามารถข้ามเขื่อนขึ้นไปอยู่เหนือน้ำได้ แต่ตลิ่งจะพังน้อยลง ปริมาณดินโคลนที่มากับกระแสน้ำคงไม่ลดลงมากนัก เพราะส่วนใหญ่มาจากลำน้ำสาขาในลาว ที่มาจากจีนส่วนใหญ่เป็นก้อนหิน

การปรับปรุงเส้นทางเดินเรือในลำน้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งจีนถูกพวกอนุรักษ์ธรรมชาติโจมตีมาก ไทยมีผลประโยชน์สอดคล้องกับจีน จึงช่วยกันจูงใจให้ลาวและพม่าเห็นด้วย ในการปรับปรุงร่องน้ำให้สะดวกแก่การคมนาคมขนส่ง ลาวและพม่ายังใช้ประโยชน์จากการเปิดท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร น้อย แต่ก็ให้ความร่วมมือกับไทยและจีน ตราบเท่าที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เรือขนส่งสินค้าระหว่างจิ่งหงของจีนและเชียงแสนของไทย ส่วนมากเป็นของจีน (รวมกันประมาณ 110 ลำในปี 2003) ในทศวรรษ 1990 มีเรือสินค้าแล่นไปมาประมาณ 10 กว่าเที่ยวต่อปี ถึงปี 2003 มีเรือสินค้าแล่นอยู่ประมาณ 3,000 เที่ยว ปริมาณสินค้าที่บรรทุกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 400 ตันโดยเฉลี่ยในต้นทศวรรษที่ 1990 เป็น 150,000-200,000 ตัน ในปี 2002 (Sayan, "Fast boat from China," The Nation, March 29, 2004, 8A และเว็บไซต์ของ Yunnan Provincial Communications Bureau, February 2003) สินค้าที่ไทยซื้อจากจีนที่ล่องมาทางแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ส่วนใหญ่เป็นพวกผลไม้ เช่น แอปเปิลและสาลี่ ส่วนที่ไทยส่งไปจีนส่วนมากเป็นลำไยแห้ง และวัสดุก่อสร้าง

จีนแก้ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันมีสาเหตุมาจากการแย่งการลงทุนจากต่างประเทศอย่างไร ภายหลังจากเปิดประเทศตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา จีนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศอื่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยมาก ปัญหามีว่า จีนแย่งเอาไปมากน้อยเพียงใด

เรื่องนี้คำนวณให้เห็นชัดได้ยาก เราไม่รู้ว่านักลงทุนต่างประเทศ ถ้าไม่ไปลงทุนในจีน จะเอาเงินจำนวนนั้น มาลงทุนในบริเวณนี้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เครื่องล่อใจให้ต่างชาติไปลงทุนในพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังไม่สู้ดีนัก ประเทศไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ก็ยังมีปัญหาความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลตอบแทน ส่วนจีนนั้นเป็นตลาดใหญ่ มีเสถียรภาพ และเครื่องล่อใจในเชิงกำไรค่อนข้างดี ฐานะของจีนดีขึ้นเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ผู้นำจีนพยายามหามาตรการมาลดความรู้สึกต่อต้านจีนในเรื่องนี้ โดยให้คำมั่นกับผู้นำอาเซียน ในการประชุมอาเซียนบวกสาม (พฤศจิกายน 2001) ว่า จีนจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้คนจีนไปลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คำมั่นสัญญานี้ประกอบกับพฤติกรรมของจีน ในการช่วยพยุงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเอเชีย เมื่อประสบวิกฤตในช่วงปี 1997-2000 คงมีส่วนทำให้การต่อต้านจีนลดลง นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปมีแนวความคิดใหม่ตามกระแสโลกาภิวัตน์ โดยถือว่าจีนเป็นคู่แข่งมากกว่าคู่ต่อสู้

ในเรื่องการค้าก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน มีคนบ่นมากว่าสินค้าจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ได้ยึดตลาดไปหมดแล้ว สินค้าราคาถูกของจีนเต็มตลาดเกือบทุกแห่งหนในอนุภูมิภาคฯ นอกจากนั้น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 สินค้าจีนเข้าไปแย่งตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเคยเป็นตลาดสำคัญของประเทศในอนุภูมิภาคฯ เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) สินค้าส่งออกของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงย่อมต้องเผชิญปัญหามากขึ้น เมื่อผลประโยชน์ขัดกันอย่างนี้ จะแก้ปัญหากันอย่างไร

จีนมีความหวั่นไหวต่อปัญหานี้มาก ในโอกาสที่ไปเยือนสิงคโปร์เมื่อปี 2000 นายกรัฐมนตรี จู หรงจี ของจีน ได้เสนอความคิดเปิดตลาดการค้าเสรีสำหรับอาณาบริเวณจีน-อาเซียน ในปีต่อมา จีน-อาเซียนได้ตกลงกันเปิดการค้าเสรี (Free Trade Area, FTA) ในโอกาสที่ผู้นำจีนไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 7 ที่บรูไน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2001 ข้อตกลงนี้บังคับให้คู่ภาคีเปิดตลาดการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์อย่างช้าภายในปี 2011 ประเทศคู่ภาคีของจีนในการค้า หวังที่จะเพิ่มการส่งสินค้าไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เพื่อเป็นการทดแทนตลาดโลกที่กำลังสูญเสียให้แก่จีนไป

4. ลู่ทางในอนาคต

ในความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง เพราะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ตลาดใหญ่ เศรษฐกิจใหญ่ และเติบโตเร็ว จีนเป็นมหาอำนาจระดับโลก มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ระดมทุนง่าย และมีเสถียรภาพ นอกจากนั้นยังมีชาวจีนโพ้นทะเลและคนเชื้อสายจีน ที่ยังมีความผูกพันอยู่กับแผ่นดินแม่อาศัยอยู่ทั่วไปในอนุภูมิภาคนี้

มณฑลยูนนาน เป็นแหล่งที่แม่น้ำโขงตอนบนไหลผ่าน คิดเป็นอาณาบริเวณประมาณ 21% ของลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ฉะนั้น จีนจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะอ้างว่าพวกเขามีสายใยเชื่อมโยงกับประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง เผอิญคนในมณฑลยูนนานมีมาตรฐานการครองชีพต่ำ เมื่อเทียบกับคนจีนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก ชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในอาณาบริเวณนั้น ใกล้เคียงกับคนไทยในภาคอีสาน คนลาว และคนพม่าที่อยู่ใกล้เคียงกัน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคนในอนุภูมิภาค น่าจะมีอันดับความสำคัญใกล้เคียงกัน และตัวเร่งในการพัฒนาที่สำคัญที่สุด น่าจะมาจากรัฐบาลกลางของจีน

ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจีนมีศักยภาพในการระดมทุนสูง โอกาสที่จีนจะใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่หาได้ มากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคฯ จึงมีมาก ซึ่งก็คล้าย ๆ กับที่ญี่ปุ่นเคยทำหน้าที่นี้ครั้งหนึ่ง (ช่วงปี 1960-1990) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะในประเทศเสรีนิยมที่ติดกับทะเล

จีนสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน จีนต้องการใช้การค้าชายแดนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล้าหลังของตนตามบริเวณชายแดน โดยการส่งเสริมประเทศในภูมิภาคให้มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น การให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้พรมแดนจีน ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการขนส่ง จึงเป็นเรื่องที่จีนให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ปัญหามีว่าจีนจะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคฯ ในเชิงครอบงำหรือขูดรีดหรือไม่ วิเคราะห์จากวัฒนธรรมจีน พฤติกรรมของผู้นำจีนในอดีตและปัจจุบัน จีนสนใจที่จะเป็นพี่เลี้ยงที่มีคุณธรรมมากกว่าผู้ขูดรีด การมีคู่แข่งเช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งขาดคุณสมบัติของผู้ร่วมชะตากรรมในอนุภูมิภาคฯ จะทำให้คุณความดีของจีนเด่นชัดยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ถ้าจีนปราศจากคู่แข่งที่มีคุณธรรมในอนุภูมิภาคฯ และอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยม ผสมกับปัจเจกชนนิยมของลัทธิทุนนิยม เข้าไปครอบงำชาวจีนแทนจริยธรรมด้านเมตตาธรรมของขงจื้อแล้ว ความเห็นแก่ตัวของจีนก็จะปรากฏ อันตรายต่ออนุภูมิภาคฯ จะเพิ่มขึ้น ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนประสบปัญหายุ่งยาก ถึงตอนนั้นคุณธรรมและเยื่อใยจะถูกผลประโยชน์เข้ามาแทนที

ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต เราควรเข้าใจว่า จีนยืนหยัดที่จะรักษาผลประโยชน์บางอย่างเอาไว้ ที่สำคัญคือ สิทธิในการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน จะบังคับจีนมิให้สร้างเขื่อนในลำน้ำล้านช้างนั้นยาก แต่การเจรจาให้จีนใช้น้ำอย่างมีมนุษยธรรมนั้นจีนยอมรับได้

ความร่วมมือกันในการใช้น้ำในแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องจำเป็น จีนไม่ควรถูกกีดกันออกไปจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงแต่เริ่มแรก ทางแก้ที่ดีคือ พยายามดำเนินงานทางการทูต เชิญจีนและพม่าเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการแม่โขงด้วย ทั้งนี้จะต้องร่างกฎเกณฑ์ในการใช้แม่น้ำโขง-ล้านช้าง และสาขาขึ้นใหม่ ซึ่งมีผู้แทนจีนและพม่าร่วมอยู่ด้วย

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นประตูหลังของจีนและอาเซียน จีนมีประตูหน้าไปมาหาสู่กับอาเซียน ในฐานะเป็นสมาชิกของอาเซียนบวก 3 ด้วย จีนต้องการเป็น "หุ้นส่วน (partner)" ของอาเซียนด้วย และต้องการบูรณาการ (integration) กับอาเซียน เสมือนหนึ่งสมาชิกอาเซียนที่แท้จริงด้วย เท่าที่ผ่านมาจีนวางตัวได้ดีพอควร ผู้บริหารสูงสุดของจีนให้เกียรติเข้าร่วมประชุมประจำปีของอาเซียนทุกครั้ง เพื่อปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อสมาชิกอาเซียนประสบวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 จีนให้การสนับสนุนทั้งที่เป็นรูปธรรม (เงินกู้ผ่าน IMF) และจิตวิทยา ที่สำคัญคือจีนออกประกาศในเวลาที่เหมาะสมว่า จะช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้อาเซียนโดยจะไม่ลดค่าเงินหยวน ผลคือ ช่วยให้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจผ่านพ้นไปได้ในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานนัก

อย่างไรก็ตาม จีนจะช่วยส่งเสริมให้อนุภูมิภาคฯ พัฒนาไปในทางสมบูรณ์พูนสุขมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับฐานะของจีนเองด้วย ต้องเข้าใจว่าจีนยังเป็นประเทศยากจน รายได้ต่อหัวยังต่ำ จะช่วยเหลือประเทศในอนุภูมิภาคฯ ในเชิงให้ได้มากกว่ารับ จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำคัญคือ (1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะต้องใกล้เคียงกับช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2) จีนจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ (3) นโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของจีนจะต้องมีความต่อเนื่อง

ความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคที่ดีนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในระดับรากหญ้าด้วย คือจะทำอย่างไรให้สินค้าและบริการกระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต หรือมาตรฐานการครองชีพดีขึ้น ให้ประชาชนในระดับรากหญ้ามีอำนาจซื้อ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกส่งเสริมให้ประชาชนแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการง่าย ขึ้น

จีนเป็นสังคมที่ระดมทุนได้ง่าย ฉะนั้นการเพิ่มการลงทุนในอนุภูมิภาคฯ นั้นจีนทำได้ แต่สิ่งที่จีนควรระมัดระวังคือ จะต้องเป็นการลงทุนที่ประชาชนในท้องถิ่นยินดีต้อนรับ ไม่มีลักษณะการเข้าไปตักตวงขูดรีดหรือเป็นจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ไม่ควรจะมีพฤติกรรมอันใดที่จะกระตุ้นให้คนท้องถิ่นมีปฏิกิริยาต่อต้านจีน

การเปิดการค้าเสรีมีส่วนดีและส่วนไร้มนุษยธรรมปนอยู่ด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้จะต้องช่วยกันบริหารงานตามนโยบายนี้อย่างมี คุณธรรม ให้โอกาสคนจนที่ซึ่งอยู่ในฐานะเสียเปรียบสามารถอยู่ได้ โดยอย่าเน้นการแข่งขันมากเกินไป ผู้ที่แข็งแรงกว่าจะต้องมีความจริงใจในการเปิดตลาด ไม่ใช่เปิดตลาดในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับสร้างกฎเกณฑ์หยุมหยิมขึ้นมาโดยเจตนา เพื่อกีดกันสินค้าจากประเทศด้อยพัฒนา ดังที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

ที่มา

http://www.thaiworld.org/th/include/answer_search.php?question_id=15

 

Keywords : เขียน ธีระวิทย์



__________________
Page 1 of 1  sorted by
Quick Reply

Please log in to post quick replies.



Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard