พบหลักฐานใหม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในลาวตั้งแต่ 60,000 ปี
. ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลากว่า 60,000 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเหนือของลาว ชิ้นส่วนหัวกะโหลกของมนุษย์ยุคใหม่ที่กลายเป็นฟอสซิลพบในถ้ำ ในเขตรอยต่อชายแดนลาว-เวียดนาม ได้บ่งบอกเช่นนั้น “น่าประหลาดในที่สุดก็คือ ในที่สุดเราก็พบสิ่งหนึ่งจนได้” นางลอร่า ลีน แช็คเคิลฟอร์ด (Laura Lynn Shackelford) ผู้ทำการวิจัย ซึ่งเป็นนักดึกดำบรรพ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) กล่าวเช่นนั้น เพราะไม่เคยคิดว่าจะพบอะไรขณะปฏิบัติงานสำรวจในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ชิ้นกะโหลกของมนุษย์ยุคใหม่ดังกล่าว พบตั้งแต่ปี 2552 ในถ้ำแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า “ถ้ำผาลิง” ในแขวงหัวพัน การตรวจพิสูจน์และตรวจวัดอายุด้วยเครื่องอันมือทันสมัย และหลากหลายเทคนิค ได้ผลออกมาว่ามีความเก่าแก่ถึง 63,000 ปี ในขณะที่อายุของหินในบริเวณเดียวกันมีอายุตั้งแต่ 46,000-51,000 ปี นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญในรอบเกือบศตวรรษทีเดียว ชิ้นกะโหลกมนุษย์ที่พบในลาวเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบในภูมิภาค รูปลักษณ์ของกะโหลก รวมทั้งฟันที่ยังเหลืออยู่ ไม่ต่างจากกะโหลกของมนุษย์ยุคใหม่นัก แต่ต่างกันสิ้นเชิงกับของ “มนุษย์ปักกิ่ง” (Homo erectus pekinensis) ที่มีอายุประมาณ 100,000 ปี และ “มนุษย์ชวา” (Pithecanthropus erectus) ซึ่งอาจจะอยู่ในดินแดนประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน ราว 900,000-300,000 ปีมาแล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงโฮโมอีเร็คตัส (Homo erectus) หรือวานรที่วิวัฒนาการจนสามารถยืนหลังตรงได้ ก่อนจะวิวัฒน์อีกขั้นหนึ่งไปเป็นโฮโมเซเปียน (Homo sapiens) บรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน นอกจากนั้น กะโหลกกับฟันของมนุษย์ที่พบในลาวยังมีรูปลักษณ์ที่ต่างไปจาก กะโหลกมนุษย์นีอันเดอร์ธาล (Homo sapiens neanderthalensis) ซึ่งเป็นมนุษย์ยุคใหม่ในยุโรป ตามทฤษฎีที่เกิดขึ้นจากหลักฐานอันจำกัดปนกับความเชื่อนั้น มนุษย์วานรอยู่ในโลกนี้มานาน 1.2-1.4 ล้านปี แต่ “คน” ถือกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อน ก่อนจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในช่วงเวลาต่อมา ส่วนจะเริ่มอพยพกันในยุคใดสมัยใดนั้น ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ในขณะที่หลายคนไม่เชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์ไม่น่าจะต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ถือกำเนิดมาในหลายๆ ที่ หลายๆ ยุค แตกต่างกันไป
. การพบกะโหลกของมนุษย์ชวาซึ่งมีอายุหลายแสนปี ร่วมสมัยกับมนุษย์วานรในแอฟริกาได้ทำให้เกิดการโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทฤษฎีเดิมเชื่อว่า พวกที่อยู่ในดินแดนอินโดนีเซียอาจจะอพยพไปก่อน แต่อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่า พวกนี้ไม่ได้อพยพจากที่ไหน หากวิวัฒน์อยู่ที่นั่น เช่นเดียวกับมนุษย์วานรในดินแดนอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีได้ชี้ว่า มนุษย์ยุคใหม่กลุ่มแรกได้ปรากฏตัวในย่านเอเชียเมื่อประมาณ 60,000 ปีมาแล้ว แต่สมมติฐานนี้ก็ยังขาดหลักฐานทางฟอสซิลสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อกันว่าหลักฐานพวกนั้นคงจะเสื่อมสภาพไปหมดแล้วจากอากาศร้อนชื้นใน ท้องถิ่นนี้ นักวิทยาศาสตร์อเมริกันกล่าวในเว็บไซต์วารสาร LiveScience ในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ 20 ส.ค.นี้ว่า หลักฐานที่พบในถ้ำผาลิง ได้ช่วยเติมช่องว่างในเรื่องนี้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังน่าประหลาดใจไม่หาย เพราะชื่อกันว่าการอพยพครั้งใหญ่จากกาฬทวีปนั้นจะเกาะกลุ่มกันไปตามชายฝั่ง ทะเลเป็นหลัก เข้าสู่ชมพูทวีป หมู่เกาะรายทาง ซึ่งรวมทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ไปจนถึงแผ่นดินใหญ่จีน และฮาวาย แต่เหตุไฉนจึงไปพบหลักฐานอันน่าฉงนในเขตป่าเขาภาคเหนือของลาว ซึ่งเป็นดินแดนที่มนุษย์ไม่ควรจะอยู่เมื่อหลายหมื่นปีก่อน ไม่กี่ปีมานี้ในลาวมีการค้นพบร่องรอยของมนุษย์โบราณจำนวน มาก ในโครงการศึกษาโบราณคดีในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือดินแดนแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่หลักฐานที่พบส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ยุคหินใหม่กับยุคโลหะระหว่าง 4,000-2,000 ปีเท่านั้น
. ในปี 2553 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ประกาศการค้นพบร่องรอยจำนวนมากในแขวงหลวงพระบาง ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่ามีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ในแถบนั้นมาประมาณ 11,000 ปีแล้ว แต่หลักฐานยังไม่ได้ผ่านการตรวจพิสูจน์หาอายุ นางแช็คเคิลฟอร์ดกล่าวว่า ในปี 2552 คณะต้องปีนขึ้นไปตามชะง่อนผาในบริเวณที่เรียกว่าภูผาห่าง ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,100 เมตร จึงไปถึงปากทางเข้าถ้ำ จากนั้น ต้องค่อยๆ ปีนป่ายลงไปตามความลาดชัน และลุยโคลนไปอีกประมาณ 60 เมตร จึงพบชิ้นส่วนกะโหลกอันน่าทึ่งนี้ “เราคิดว่าเมื่อก่อนนี้เจ้าฟอสซิลที่พบก็คงจะอยู่ข้างบน เช่นเดียวกับฟอสซิลของสัตว์ และพืชอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผ่านไปหลายฤดูกาลอาจจะโดนน้ำซัดลงถ้ำ และซ่อนอยู่ในนั้น” นักดึกดำบรรพ์วิทยาชาวอเมริกันกล่าว “การค้นพบครั้งนี้ได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเส้นทางอพยพของมนุษย์ยุค ใหม่เข้าสู่เอเชีย ซึ่งมีมากกว่าที่เคยคิดกันมาก่อน“ และ “ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดว่ามนุษย์เหล่านั้นจะเข้าไปในเขตภูเขาในลาว เวียดนาม และประเทศไทย” ซึ่งจะทำให้การศึกษาในอนาคตเป็นแบบไร้พรมแดนอย่างสิ้นเชิง นางแช็คเคิลฟอร์ดกล่าว ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามสกัดดีเอ็นเอจากฟอสซิลกะโหลกที่ค้นพบ เพื่อนำไปเปรียบเทียบดูว่า มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนในแหล่งที่ค้นพบอย่างไรหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์คนเดียวกันกล่าว.
.
Anthropology ແປວ່າມະນຸດວິທຍາ, ແມ່ນບໍ່?