วันนี้ (17 ก.ย.) สำนักข่าวเอพีรายงานจากนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ว่า กระทรวงสารนิเทศพม่าประกาศการอภัยโทษ และปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ชุดใหม่รวม 514 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วยหลายคน การปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้เป็นการปล่อยเพื่อมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม กระทรวงสารนิเทศไม่ระบุรายชื่อนักโทษที่ได้รับอิสระในครั้งนี้ รวมทั้งมีนักโทษการเมืองรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ฝ่ายค้านของนางออง ซาน ซูจี ประเมินว่า ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่ในพม่าประมาณ 350 คน แต่กลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เชื่อว่า ตัวเลขจริงอาจมากกว่านี้อย่างน้อย 100 คน
ทางด้านรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี จากกรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม ในวันเดียวกันนี้ ระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้เสนอให้คืนสิทธิพิเศษทางการค้าให้แก่พม่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการปฏิรูปการเมือง ของรัฐบาลใหม่พม่าที่นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้สินค้าพม่าทุกชนิด สามารถเข้าถึงตลาด 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยปลอดภาษีและปลอดโควตา ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับอาวุธและเครื่องกระสุน
นายคาเรล เดอ กุชท์ กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป กล่าวว่า นับตั้งแต่พม่าเริ่มเปิดเสรีประเทศอย่างเต็มที่ช่วงต้นปีนี้ ตนเห็นว่าจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและสำคัญ ด้วยการให้การสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทันทีที่เงื่อนไขสำคัญด้านแรงงานได้รับการตอบสนอง ภายใต้ข้อเสนอของอีซี พม่าจะกลับคืนสู่สถานะพิเศษทางการค้า ที่เรียกขานกันว่า “ขายได้ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ !” กับสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ พม่าถูกระงับสถานะดังกล่าวในปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากมีการละเมิดอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ ต่อข้อตกลงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน แต่ในรายงานสรุปเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า พม่ามีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด ในการแก้ไขบางปัญหาด้านการบังคับใช้แรงงานภายในประเทศ ข้อเสนอของอีซีในวันนี้ (17 ก.ย.) จะถูกยื่นต่อที่ประชุม 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และสภายุโรป เพื่อขออนุมัติเป็นข้อตกลงต่อไป