สะพานข้ามโขง 4 เชื่อมไทย-ลาว-จีน ใกล้เสร็จ คาดเปิดทัน 12-12-12
เชียงราย - การก่อสร้างสะพานข้ามโขง 4 เชื่อม ไทย-ลาว-จีน ผ่านเส้นทาง R3a คืบหน้าจนใกล้เสร็จแล้ว เชื่อเปิดทัน 12 ธันวาฯนี้ เผยยอดการค้าผ่านพรมแดนเชียงแสน ขยายตัวต่อเนื่อง จากปี 54-55 ขยายตัวแล้ว 33% อนาคตอาจทะลุถึง 1.5-1.6 หมื่นล้านต่อปี นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับนายคะซึโอะ ชืบาตะ กงสุลใหญ่ประเทศญี่ปุ่นประจำ จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กับถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอน ใต้ โดยมีกรรมการหอการค้า เช่น นายธนิสร กระฎุมพร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน ,นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ร่วมให้ข้อมูล นายพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างสะพานคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่องกว่า 90% แล้ว โดยตัวสะพานก่อสร้างโครงสร้างหลักเกือบแล้วเสร็จเหลือเพียงส่วนประกอบ และเอกชนจีน ซึ่งสร้างสะพานได้เริ่มขนย้ายอุปกรณ์บางอย่างออกไปแล้ว ขณะที่การก่อสร้างถนน-อาคารด่านพรมแดนทั้ง 2 ฝั่งประเทศพบว่า ทางเอกชนไทยได้เร่งก่อสร้าง โดยมีการลาดยางมะตอยสร้างถนนไปถึงอาคารที่ก่อสร้างเป็นรูปทรงได้ชัดเจน และมีถนนสับเปลี่ยนช่องจราจรก่อนถึงสะพานด้วย ด้านนายสุวัฒน์ ด้วงปั้น นายด่านศุลกากรเชียงของกล่าวว่า ในปี 2554 ก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการ ยอดค้าชายแดนผ่าน อ.เชียงของ มีมูลค่ารวมประมาณ 8,199 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 2,268.3 ล้านบาท ส่งออก 5,931.1 ล้านบาท และในปีนี้ 2555 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 12,500 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 3,071 ล้านบาท และส่งออก 9,453.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33 % สำหรับปีงบประมาณ 2556 จนถึงปัจจุบันมีการนำเข้าแล้ว 311.7 ล้านบาท และส่งออก 693.7 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืชผัก เครื่องจักร รถยนต์ ฯลฯ จากประเทศจีนมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ สาเหตุของการเติบโตทางการค้าเกิดจากการมีถนนอาร์สามเอที่เชื่อมไปถึง เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เขตปกครองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหยัน ที่มีระยะทางเพียง 413 กิโลเมตร ทำให้เป็นทางเลือกแทนถนนอาร์สามบี จาก อ.แม่สาย-พม่า-จิ่งหง ซึ่งมีระยะทาง 399 กิโลเมตร แต่มีปัญหาการขนส่งภายในพม่าอยู่ และทางเรือแม่น้ำโขงระยะทาง 344 กิโลเมตร ที่ยังมีปัญหาเรื่องระดับน้ำในฤดูแล้งและความปลอดภัย "ในอนาคตคาดว่าตัวเลขการค้าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละกว่า 14,000-15,000 ล้านบาทขึ้นไป เพราะเมื่อสะพานเสร็จก็ไม่ต้องเสียเวลากับการขนถ่ายสินค้าผ่านแพขนานยนต์ใน แม่น้ำโขงอีก สามารถบรรทุกรถบรรทุกขนผ่านด่านพรมแดนและสะพานได้โดยตรง" นายสุวัฒน์ กล่าว และจากกรณีนานเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีประเทศจีน ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือเรื่องข้อตกลงในอนุสัญญาการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างกัน ด้วย ซึ่งหากในอนาคตการใช้ข้อตกลงบรรลุผลก็จะทำให้การขนส่งบนถนนอาร์สามเอไม่ต้อง มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนรถขนส่งเมื่อข้ามประเทศอีกต่อไป ทำให้การขนส่งยิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4 เกิดขึ้นจากรัฐบาลไทย จีน และ สปป.ลาว ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนร่วมระหว่างบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน และบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,486.5 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2553 และเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธ.ค.2555 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน แต่ช่วงกลางปี 2554 มีปัญหาเรื่องการสกุลเงินค่าจ้างเอกชน ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปถึงกลางปี 2556 อย่างไรก็ตามล่าสุดมีรายงานว่าจะมีการทำพิธีเชื่อมสะพาน อย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธ.ค.55 นี้หรือตรงกับตัวเลขวันที่ 12 เดือน 12 ปี ค.ศ.2012 โดยตัวสะพานมีความยาวประมาณ 480 เมตร มีเสาตอม่อ 4 ตอม่อ มีความกว้าง 14.70 เมตร มีสองช่องจราจรๆ ละ 3.50 เมตร และไหล่ทางข้างละ 2 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร และเอกชนไทยทำการก่อสร้างถนนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รวม 11 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 5 กิโลเมตรและ สปป.ลาว 6 กิโลเมตร รวมทั้งอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่งด้วย