วันนี้ ( 11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะประกอบด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว. ต่างประเทศ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้า พระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 5 ที่นครเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม ACMECS เป็นกรอบการหารือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่เป็นสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ริเริ่ม เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยจะเป็นการติดตามและทบทวนความร่วมมือของ ACMECS ที่ผ่านมา และทิศทางความร่วมมือในอนาคต มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำ ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 46 ที่เมืองพุกาม ครั้งที่ 2 เมื่อปี 48 ที่กรุงเทพ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 51 ที่กรุงฮานอย และเมื่อปี 53 ที่กรุงพนมเปญ ผ่าน 8 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน (ไทยเป็น Lead Country) การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน ความเชื่อมโยงทางคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข (ไทยเป็น Lead Country) และสิ่งแวดล้อม
โดยการประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญเนื่องจากจะรับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ และแผนปฏิบัติการ ACMECSปี ค.ศ. 2013-2015 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ยกร่าง เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนร่วมกัน ด้วยการเชื่อมโยงให้ประเทศ ACMECS เป็นฐานการผลิตเดียว ตามแนวทางการเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อให้เป็นห่วงโซ่การผลิตทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของโลก โดยไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำ และเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือ ACMECS จะยืนยันบทบาทของไทยในการเป็น ประเทศผู้ให้ เพื่อขับเคลื่อนและลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยง (Connectivity) เมืองสำคัญเพื่อการค้า การท่องเที่ยว และการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยเฉพาะในสาขาสาธารณสุข รวมทั้งชี้ให้เห็นความจำเป็นของประเทศสมาชิกในการพึ่งพาระหว่างกันมากขึ้น เชื่อมโยงการผลิตและเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และพลังงาน เน้นการส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตเดียว ผลักดันให้มีการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน การข้ามพรมแดน จัดตั้งเมืองคู่แฝดชายแดน (Sister Cities) ยกระดับจุดผ่านแดน รวมทั้งส่งเสริมการยกระดับขีดความสามารถของแรงงาน และการพัฒนา R&D ของประเทศสมาชิก และผลักดันให้ประเทศสมาชิกที่เหลือเข้าร่วมโครงการ ACMECS Single Visa ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 วันพรุ่งนี้ เวลา 16.30 น. และจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันพุธที่ 13 มี.ค. เวลา 16.15 น.