สหรัฐฯ กลับเชียงขวาง ช่วยลาวกู้ระเบิดสมรภูมิทุ่งไหหิน
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าทุ่งไหหินในสัปดาห์ต้นเดือน มี.ค.นี้ ในความพยายามช่วยเหลือลาวเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ตกค้างมาตั้งแต่ครั้งสงคราม เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน และยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างสองฝ่ายที่พัฒนามาเป็นลำดับ ตามรายงานของสื่อทางการลาว วันที่ 7 มี.ค. นางเอ็มมา แอ็ทคินสัน (Emma Atkinnson) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเพื่อการลดและกำจัดอาวุธ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำนครเวียงจันทน์ ได้เดินทาง “เยี่ยมสนามเก็บกู้ระเบิดที่แขวงเชียงขวาง” นอกจากเยี่ยมชมการสาธิตการเก็บค้นหา และเก็บกู้ระเบิดแล้ว นางแอ็ทคินสัน กับคณะยังไปเยี่ยมชมโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อื่นๆ ด้วย หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่รายงาน นางแอ็ทคินสัน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดจากกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ไปเยือนลาว นับตั้งแต่นางฮิลลารี คลินตัน อดีต รมว.การต่างประเทศ เดินทางเยือนนครเวียงจันทน์ เป็นเวลา 1 วันในเดือน ก.ค.2555 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนแรกที่ไปเยือนประเทศนี้ การเยือนของนางแอ็ทคินสัน ยังมีขึ้นเพียง 10 วันเศษหลังจาก พล.ท.แฟร็งก์ เวียร์ซินสกี (Frank Weircinsky) ผู้บัญชาการทหารบกในย่านแปซิฟิกของกองทัพบกสหรัฐฯ ไปเยือนลาว ซึ่งได้พบหารือกับ พล.ต.จันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันชาติของลาว ระหว่างการเยือนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของสองฝ่ายได้ตกลงจะร่วมกันค้นหาเศษซากทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในดินแดนลาวตั้งแต่ครั้งสงครามต่อไป สื่อของทางการลาวรายงานในช่วงดังกล่าว เชียงขวางเป็นแขวง (จังหวัด) ที่สหรัฐฯ โจมตีทิ้งระเบิดหนักหน่วงที่สุด ในการสู้รบที่รู้จักกันดีในชื่อ “สมรภูมิทุ่งไหหิน” โดยองค์การสืบราชการลับซีไอเอเข้าปฏิบัติการลับทำสงครามที่ไม่ประกาศในลาว จัดตั้งกองทัพของชาวลาวม้งที่นำโดยนายพลวังปาวขึ้นมา รวมกับ “ทหารอาสาสมัคร” จากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อต้านกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว และทหารเวียดนามเหนือที่เคลื่อนลงใต้เพื่อเข้ายึดในนครเวียงจันทน์ นั่นคือเหตุการณ์สู้รบอันหนักหน่วงระหว่างปี 2515-2518 ซึ่งต่างไปจากสงครามในเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นไม่เคยได้รับอนุมัติจากรัฐสภาให้ทำสงคราม หรือโจมตีทิ้งระเบิดในดินแดนลาว
คณะ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชมการสาธิตทำลายวัตถุระเบิดในเชียงขวางวันที่ 7 มี.ค.2556 การเก็บกู้วัตถุระเบิดในแขวงนี้ดำเนินมา 18 ปี แต่ก็เพิ่งจะทำได้เพียงประมาณ 0.31% ของเนื้อที่ทั้งแขวงเท่านั้น ช่วงเดียวกันมีราษฎรในท้องถิ่นได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดกว่า 700 คน มี 550 คนบาดเจ็บและสูญเสียอวัยวะ อีกเกือบ 200 คนเสียชีวิต. -- ภาพ: เวียงจันทน์ใหม่.
พล.ท.แฟร็งก์ เวียร์ซินสกี (Lt Gen Frank Wiercinsky) ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐในแปซิฟิก พบหารือกับ พล.ต.จันสะหมอน จันยาลาด รมช.กระทรวงป้องกันชาติของลาว วันที่ 13 ก.พ.2556 ภาพจากเว็บไซต์กองทัพบกสหรัฐ เป็นการสืบต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างสองฝ่าย โดยเน้นในด้านมนุษยธรรม ลาวและสหรัฐตกลงจะร่วมกันค้นหาทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในดินแดนลาวแต่ครั้ง สงครามต่อไป.
ถึงแม้จะผ่านมานานหลายทศวรรษ ในหลายพื้นที่ของแขวงเชียงขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณทุ่งไหหินอันกว้างใหญ่ ยังมีหลุมระเบิดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินบี-52 ปรากฏให้เห็นมาจนทุกวันนี้ วัตถุระเบิดที่ยังมีฤทธิ์อยู่จำนวนมหาศาลยังคงซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนดิน ในเทือกไร่นาสวนและในหมู่บ้านของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบิดลูกหว่าน หรือ “บอมบี้” (Bombie) นับเป็นภัยอันตรายที่น่ากลัวที่สุด ตามรายงานของสื่อทางการ การเก็บกู้ระเบิดในเชียงขวางดำเนินมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายประเทศ และหลายปีมานี้ มีราษฎรชาวลาวได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดรวม 746 ครั้ง ในนั้นมี 550 คนบาดเจ็บ และสูญเสียอวัยวะ อีก 196 คนเสียชีวิต ในช่วงเดียวกัน ทีมงานสามารถเก็บกู้ระเบิดแล้วเสร็จในพื้นที่ทั้งหมด 5,363.39 เฮกตาร์ (33,500 ไร่เศษ) ในนั้นมีเนื้อที่การเกษตร 4,000 เฮกตาร์ (25,000 ไร่) เก็บวัตถุระเบิดได้รวม 101,095 ชิ้น เป็นระเบิดขนาดใหญ่ 95 ลูก ระเบิดลูกหวาน 61,990 ลูก กับระเบิดขนาดเล็ก 31 ลูก วัตถุระเบิดชนิดอื่นๆ อีก 38,979 ชิ้น เวียงจันทน์ใหม่รายงาน ถึงแม้จะดำเนินการมานาน และเก็บกู้ได้มากมายในช่วง 18 ปีที่ผ่ามนมา แต่เนื้อที่ทั้งหมดก็เป็นเพียง 0.31% ของเนื้อที่ทั้งแขวงเชียงขวางเท่านั้น หนังสือพิมพ์ของทางการนครเวียงจันทน์กล่าว หลายปีมานี้ สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการลาวในโครงการพัฒนาต่างๆ หลายโครงการในแขวงเชียงขวาง รวมทั้งการช่วยก่อสร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลโดยผ่านสถานทูตในลาว และกองทัพบกโดยกองกำลังแปซิฟิกสหรัฐฯ ยังช่วยลาวสร้างโรงพยาบาล และสถานีอนามัยอีกหลายแห่งในแขวงนี้ด้วย ปัจจุบัน ทางการลาวกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถนนหนทาง รวมทั้งการยกระดับสนามบินโพนสะหวันให้ทันสมัย และฟื้นฟูสนามบินล่องแจ้ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการลงทุนในดินแดนที่เคยลี้ลับแห่งนี้.
ຕາມທີ່ສອບຖາມມາ
ປະເທດຫວຽດນາມບໍ່ເຄີຍຮັບການຊ່ວຍເຫຼືອ ທຶນ ຫຼື ຊ່ຽວຊານ ດ້ານການກູ້ລະເບີດເລີຍ
ບໍ່ຮູ້ວ່າເປັນຍ້ອນຫວຽດນາມເອງບໍ່ມີລະເບີດທີ່ຕ້ອງກູ້ຫຼາຍປານໃດ ເພາະວ່າ ສະໝໍລະພູມຮົບ ແມ່ນເກີດຂື້ນຢູ່ລາວພີ້ ເປັນຫຼັກ
ຫຼື ວ່າຫວຽດນາມ ເຂົາເກັ່ງແລ້ວ ກູ້ເອງກະໄດ້ ບໍ່ຕ້ອງການ ຄວາມຊ່ວຍເຫຼືອຈາກໃຜ