นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ส.ส.และส.ว. ของสหรัฐ กดดันให้รัฐบาลสหรัฐหั่นเงินช่วยเหลือกัมพูชา
หากจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่า นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ กำลังผลักดันให้สหรัฐตัดลดเงินช่วยเหลือรายปีต่อกัมพูชา จำนวนมากกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จัดการเลือกตั้งอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ตัวเองชนะเพื่อปกครองประเทศต่อไป จากที่ปัจจุบันบริหารประเทศมาแล้ว 28 ปี หนึ่งในผู้ครองอำนาจที่ยาวนานที่สุดของเอเชีย ความเข้มแข็งทางการเมืองของฮุนเซน เพิ่มขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551 และการสนับสนุนจากจีน ชาติที่สนับสนุนทางการเงินอีกชาติหนึ่ง ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งนั่นก็จุดชนวนให้เกิดความหวาดกลัวว่า ฮุนเซน ซึ่งถือเป็นขาประจำ ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศผู้บริจาคตะวันตก จะเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องเพื่อรับประกันว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม
รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐกระตุ้นให้รัฐบาลทหารที่กดขี่ในพม่าเปิดกว้าง แต่ความสัมพันธ์กับกัมพูชาเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ระหว่างการเยือนกัมพูชาครั้งแรกของโอบามาในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ผู้นำสหรัฐได้ทุ่มเทเวลาในการประชุมกับฮุนเซน หารือเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ในการเลือกตั้งทั่วไปปลายเดือนนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถูกขับออกจากรัฐสภา ฐานควบรวมพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ถูกห้ามลงเลือกตั้ง เพราะมีความผิดในคดีอาญา ในข้อหาที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า มีการเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของนายสม รังสี ให้มีการสอบสวนความชอบธรรมของกระบวนการประชาธิปไตยในกัมพูชา และยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการวางตัวเป็นกลางของคณะกรรมาธิการจัดการเลือก ตั้ง และองค์ประกอบของการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาจากทั้ง 2 สภาของสหรัฐแนะนำการแก้ปัญหาด้วยการลดเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือโดยตรงต่อรัฐบาล หากการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือและไม่มีการแข่งขัน