รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ แถลงระหว่างเยือนเวียดนามในวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ว่า วอชิงตันจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทะเล ให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้านของจีน และมีกรณีพิพาทกับแดนมังกร ความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นที่คาดหมายกันว่าจะยิ่งทำให้พญามังกรกราดเกรี้ยว หลังจากล่าสุดกระบอกเสียงปักกิ่งก็ออกมาโจมตีว่า เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธของอเมริกัน เป็นฝ่ายคุกคามเรือบรรทุกเครื่องบินของตนก่อน ในเหตุการณ์ที่เรือของทั้ง 2 ฝ่ายเกือบชนกันเมื่อตอนต้นเดือนนี้ เคร์รีแถลงที่กรุงฮานอยว่า อเมริกาจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มเติมอีก 32.5 ล้านดอลลาร์ ในการปกป้องน่านน้ำและเสรีภาพในการเดินเรือของพวกเขาเอง ซึ่งจะทำให้มูลค่าความช่วยเหลือเพื่อความมั่นคงทางทะเลที่วอชิงตันให้แก่ ภูมิภาคนี้รวมแล้วสูงกว่า 156 ล้านดอลลาร์ ในตลอดช่วง 2 ปีข้างหน้า เฉพาะเวียดนามนั้นจะได้รับความช่วยเหลือ 18 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเรือเร็วตรวจการณ์จำนวน 5 ลำ ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม เคร์รีกล่าวว่า ความช่วยเหลือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความช่วยเหลืออย่างค่อยเป็นค่อยไป และรอบคอบ ไม่ใช่ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดๆ ในภูมิภาค แต่สำทับว่า เป้าหมายของความช่วยเหลือคือปกป้องประเทศต่างๆ จากการถูกรุกล้ำน่านน้ำ และว่า สันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้มีความสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับอเมริกาและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยอเมริกากังวลและต่อต้านการดำเนินการที่ก้าวร้าวดึงดันซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์อธิปไตย ไม่ว่าประเทศใดจะเป็นผู้กระทำเช่นนี้ก็ตาม การเยือนเวียดนามของเคร์รี ซึ่งมีจุดหมายต่อไปที่ฟิลิปปินส์ในวันอังคาร (17) มีขึ้นขณะที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดจากการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนือดินแดนใน ทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของจีนหลายราย ได้เรียกร้องให้วอชิงตันรับบทบาทผู้รับประกันความมั่นคงทางทะเลใน เอเชีย-แปซิฟิก เพื่อต้านทานความก้าวร้าวของพญามังกร นอกจากทะเลจีนใต้แล้ว ปักกิ่งยังอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนตะวันออกด้วยการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการ ป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางการคัดค้านจากอเมริกาและพันธมิตรสำคัญคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระหว่างแถลงข่าวคราวนี้ เคร์รีตอกย้ำจุดยืนของวอชิงตันว่า ADIZ ของจีนเพิ่มความเสี่ยงในการคำนวณผิดพลาดและความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และเรียกร้องให้สองประเทศเพิ่มความพยายามด้านการทูตเพื่อแก้ไขข้อพิพาท “จีนไม่ควรบังคับใช้กฎ ADIZ และควรละเว้นจากการดำเนินการฝ่ายเดียวในลักษณะคล้ายๆ กันในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้” เคร์รียังย้ำว่า ADIZ ของจีนไม่มีผลใดๆ ต่อปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชีย และอเมริกากังวลอย่างมาก รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการบีบบังคับในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ การประกาศล่าสุดของเคร์รี ได้รับการคาดหมายว่า จะทำให้ปักกิ่งบันดาลโทสะยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงของแดนมังกร เกือบชนกับเรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถีของอเมริกาในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 5 ที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวนั้น กองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ แถลงว่า เรือยูเอสเอส คาวเพนส์ ต้องเลี้ยวหลบเรือเหลียวหนิงของจีนระหว่างปฏิบัติการในน่านน้ำสากล เนื่องจากเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนแล่นตัดหน้าตรงบริเวณด้านหน้าของเรือรบ อเมริกัน จากนั้นก็หยุดในระยะที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 500 เมตร ทว่า หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ของทางการจีนฉบับวันจันทร์รายงานโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญทางทหารของจีนที่ ไม่ประสงค์ออกนามว่า เรืออเมริกันเป็นฝ่ายไล่ตามและคุกคามเหลียวหนิงและกลุ่มเรือบริวารที่กำลัง ซ้อมรบอยู่ก่อน และแล่นเข้าสู่รัศมี 45 กิโลเมตรของ “ชั้นการป้องกันภายใน” ของกองเรือจีน ซึ่งถือเป็นการคุกคามความมั่นคงทางทหาร จีนนั้นคัดค้านกิจกรรมนาวีและการเก็บรวบรวมข่าวกรองทั้งหมด ของอเมริกาในภูมิภาค รวมทั้งอ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ขณะที่กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ยืนยันว่า การปฏิบัติการทางนาวีในระยะประชิดกันของกองทัพเรือประเทศต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในเรื่อง “กฎการสัญจร” ทางทะเล โกลบัล ไทมส์เตือนว่า “หากเรือหรือเครื่องบินอเมริกันวนเวียนมาจ่อหน้าประตูจีน ก็มีแนวโน้มว่าการเผชิญหน้าจะต้องเกิดขึ้น และขณะที่จีนเข้มแข็งมากขึ้น อเมริกาควรเรียนรู้ที่จะสื่อสารและเคารพจีน หากไม่ต้องการให้เกิดการปะทะในทะเลหรือบนท้องฟ้า” เหตุการณ์คราวนี้เป็นเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางทะเลครั้งสำคัญที่สุด ระหว่างจีนและสหรัฐฯ นับจากปี 2009 ที่เรือจีน 5 ลำล้อมและคุกคามเรือสำรวจสมุทรของอเมริกาในน่านน้ำเดียวกันนี้ โกลบัล ไทมส์ ยังอ้างแหล่งข่าวของตนที่กล่าวโดยยกสุภาษิตจีนที่ว่า ขโมยมักจะร้องให้จับขโมยก่อนคนอื่นๆ เพื่ออ้างว่าตัวเองบริสุทธิ์ ทางด้าน สือ ห่าว ศาสตราจารย์ด้านเอเชีย-แปซิฟิก ของมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศของจีน รับลูกว่า กองเรือจีนทำถูกแล้วเนื่องจากจำเป็นต้องปกป้องสิทธิ์ทางทะเลของประเทศ