สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 20 เมษายน สื่อมวลชนในญี่ปุ่นหลายแขนงรายงานว่า ญี่ปุ่นเริ่มต้นกระบวนการขยายฐานที่มั่นทางทหารเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ด้วยการเริ่มต้นการก่อสร้างฐานทัพเพื่อการตรวจการณ์ทางทหารบนเกาะ โยนากูนิ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่เกาะ เซนคากุหรือเกาะเตียวหยู พื้นที่ขัดแย้งที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างอำนาจอธิปไตยเพียง 150 กิโลเมตร เพื่อสร้างสถานีเรดาร์สำหรับการตรวจการณ์และสอดแนม โดยมี นายอิตสึโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น เดินทางไปประกอบพิธีเปิดการก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเสี่ยงต่อการทำให้จีนไม่พอใจและทำให้สถานการณ์คุกรุ่นระหว่างสองประเทศตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
นาย โอโนเดระ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในพิธีเริ่มการก่อสร้างว่า การก่อสร้างสถานีเรดาร์ขึ้นที่นี่ สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นของการขยายการก่อสร้างฐานที่มั่นทางทหารของญี่ปุ่น เพิ่มเติมไปยังเกาะอื่นๆนอกเหนือจากนี้มากขึ้นในพื้นที่ทะเลทางด้านตะวันตก เฉียงใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการขยายฐานที่ตั้งทางทหารเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาคืน เกาะโอกินาวาพร้อมฐานทัพให้กับญี่ปุ่นในปี 2515 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้กองกำลังของญี่ปุ่นเตรียมความพร้อมเพื่อปกป้อง หมู่เกาะต่างๆที่อยู่ใต้อธิปไตยของประเทศเพิ่มมากขึ้น
รายงาน ข่าวระบุว่า สถานีเรดาร์แห่งนี้ไม่เพียงช่วยให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นสามารถ ล่วงรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเครื่องบินและกองเรือจีนในพื้นที่ขัดแย้งบริเวณ เกาะเซนคากุ ได้เร็วและดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ยังช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถสอดแนมความเคลื่อนไหวได้ลึกเข้าไปใกล้แผ่นดินใหญ่ จีน ทั้งนี้ เกาะโยนากูนิ เป็นเกาะของญี่ปุ่นมีเนื้อที่เพียง 30 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่ทั้งหมด 1,500 คน มีชื่อเสียงในด้านการผลิตสาเกดีกรีแรง ปศุสัตว์ อ้อย และเป็นแหล่งดำน้ำ การเลือกจุดนี้เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ทางทหารแสดงให้เห็นถึงความกังวลของ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ต่อการที่ญี่ปุ่นแทบไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันการบุกรุกเกาะต่างๆ รอบนอกของประเทศ และแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นมองจีนว่าเป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจน
ซาโตะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย ทากูโชกุ ที่เคยเป็นนักวิจัยประจำสถาบันเพื่อการศึกษาด้านกลาโหมแห่งชาติ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า ฐานทัพแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ญี่ปุ่นมีศักยภาพในการสอดแนม ตรวจการณ์เพิ่มมากขึ้นไปจนถึงพื้นที่ใกล้แผ่นดินใหญ่จีน และทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในกรณีที่มีจรวด หรือขีปนาวุธถล่มเข้าใส่ญี่ปุ่นจากทางด้านนั้น ในขณะเดียวกันก็จะช่วยเสริมขีดความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนได้ดีขึ้นอีกด้วย
รายงานระบุว่านับตั้งแต่จีนประกาศเขตน่านฟ้าจำเพาะที่ต้องแสดงตัว เพิ่มเติมเหนือพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกเมื่อปีที่ผ่านมา สร้างความวิตกให้กับญี่ปุ่นและทำให้นายอาเบะตัดสินใจเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศ ขยายกำลังทางอากาศระยะไกล, ขยายปริมาณเรือยกพลขึ้นบกเชิงรุก, เพิ่มหน่วยนาวิกโยธินใหม่ และเพิ่มปริมาณเฮลิคอปเตอร์เพื่อการลำเลียงพลอีกด้วย
ຍີ່ປຸ່ນເກັ່ງດ້ານຣະບົບການປ້ອງ ຈີນໄກ້ບໍ່ໄດ້ດອກ.