South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ What China’s struggles with a Thai railway say about the Belt and Road ว่าด้วยความพยายามของประเทศจีนในการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จากเมืองคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน ผ่านเข้า สปป.ลาว ประเทศไทย และมีปลายทางที่สิงคโปร์ สำหรับไทยนั้นจะเริ่มก่อสร้างที่เส้นทางกรุงเทพฯ-จ.นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร และท้ายที่สุดจะไปบรรจบกับลาวที่ จ.หนองคาย
สอดคล้องกับบรรดานักวิเคราะห์ที่มองประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมไม่ว่าทางบก น้ำและอากาศ ทั่วภูมิภาคอาเซียน ไทยจึงมีความจำเป็นสำหรับความทะเยอทะยานในยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน ศ.เซลินา โฮ (Prof.Selina Ho) นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศ National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า มีเพียงบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่สามารถเจรจาต่อรองกับจีนได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ประเทศนั้นมี เช่น ขนาด ที่ตั้ง และขีดความสามารถของรัฐ
รศ.เฉิง-ชวี กุก (Assoc. Prof.Cheng-Chwee Kuik) หัวหน้าศูนย์ศึกษาเอเชีย สถาบันมาเลเซียและนานาชาติศึกษา National University of Malaysia ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟของจีนไม่ได้ถูกมองข้ามจากอำนาจอื่นๆ ที่คิดหาทางเลือกอื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์การเชื่อมยุโรป-เอเชีย ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทวีปยุโรปกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้